รู้กันดีว่า ประเทศที่ส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกมาโดยตลอดอย่างไทยมีแหล่งผลิตยางพาราคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ แต่รู้หรือไม่ว่า พื้นที่ภาคอีสานก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกษตรกรนิยมปลูกยางพารา และสามารถผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพได้ไม่แพ้ที่อื่น
.
ยางพาราเข้ามาให้ภาคอีสานได้อย่างไร?
.
เดิมทีการปลูกยางพาราของภาคอีสานในช่วงแรกเป็นการทดลองปลูกโดยชาวบ้านทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นการปลูกแบบ “ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ” จนกระทั่งเกิด วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516 ทำให้ยางธรรมชาติถูกนำเข้าแทนยางสงเคราะห์
.
จึงมองว่ายางพารา “เป็นพืชที่มีอนาคตสดใส” และ “เป็นโอกาสทองที่จะเร่งรัดการผลิตยางเพื่อป้อนความต้องการของตลาดในอนาคต” นำมาสู่การสนับสนุนให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “อีสาน”
.
ภาครัฐได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการส่งเสริม วิจัยและพัฒนา จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความคิดที่ว่า “ยางพาราปลูกไม่ได้ในภาคอีสาน” มาเป็น “ยางพาราปลูกได้ดีในภาคอีสาน” กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นการทดลองของหน่วยงานอื่น ๆ ตามมา
.
ระยะถัดมา การที่ยางพาราถูกมองเป็นพืชเศรษฐกิจที่ “ทำรายได้เข้าประเทศสูง” ทั้งยัง ถูกสร้างให้เป็นภาพแทนของ “ป่า” ที่จะช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของอีสานดีขึ้น ภาครัฐจึงตัดสินใจใช้ยางพาราเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอีสานผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการเร่งรัดการปลูกยางพารา เพื่อกระจายรายได้ในภูมิภาคเอง โครงการอีสานเขียว โครงการสงเคราะห์ปลูกยางพาราแก่ผู้ที่ไม่มีสวนยางมาก่อน เป็นต้น
.
ระยะสุดท้าย เป็นช่วงการขยายตัวของการปลูกยางพาราโดยเกษตรกรรายย่อยและนายทุนรายใหญ่ โดยผลผลิตและรายได้ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากยางรุ่นแรก ได้ทำให้เกษตรกรคนอื่น ๆ ที่ไม่มั่นใจเริ่มหันมาปลูกยางพารา ประกอบกับราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2545 โดยเฉพาะในปี 2554 ที่ราคาพุ่งขึ้นสูงเกินกว่า 100 บาท ทำให้พื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอีสานขยายตัวอย่างรวดเร็ว
.
.
กรณีศึกษา “ธุรกิจยางพาราหมื่นล้าน” ในภาคอีสาน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER
.
NER ก่อตั้งโดย คุณชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ซึ่งคุณพ่อของคุณชูวิทย์ได้เริ่มปลูกยางพาราในพื้นที่อีสานใต้ ตั้งแต่ปี 2527 ทำให้เกษตรกรในภาคอีสานเริ่มสนใจและหันมาปลูกยางพาราเพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ต้องพบกับปัญหาที่ภาคอีสานนั้น “ไม่มีสถานที่รับซื้อยางพารา” จึงต้องนำผลผลิตยางพาราที่ได้ไปขายที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและยังโดนกดราคา
.
“เมื่อปัญหานำมาสู่โอกาสทางธุรกิจ”
.
ปัญหาดังกล่าวก็ได้ทำให้คุณชูวิทย์เห็นถึงโอกาส โดยได้ตัดสินใจตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราขึ้นมาชื่อว่า “นอร์ทอีส รับเบอร์” หรือ NER ในปี 2549 เริ่มจากการรับซื้อยางจากเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงและนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันขายให้กับคู่ค้าทั่วประเทศ
.
ช่วงแรกของการทำธุรกิจก็ได้พบกับวิกฤตครั้งใหญ่ จากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยที่ไม่ Stock ของไว้ในมือ เมื่อราคาของยางพาราวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทไม่มีเงินพอที่จะซื้อของมาขายตามที่สัญญาไว้ได้ คุณชูวิทย์จึงตัดสินใจบินไปหาคู่ค้าที่สิงคโปร์ด้วยตัวเองและชี้แจงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยขอผ่อนชำระหนี้ในระยะยาวกับคู่ค้าแทน ซึ่งคู่ค้าเห็นด้วย และยังสามารถเป็นคู่ค้ากันต่อไปได้
.
จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจเป็นแบบ “Matching” คือ ซื้อเข้ามาแล้วขายออกเลย หรือรับออร์เดอร์ขายเข้ามาก่อน แล้วค่อยซื้อเข้ามาเก็บไว้ ทำให้บริษัทไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของต้นทุนสินค้าอีกต่อไป
.
กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว แม้ว่าวัตถุดิบอย่างยางพาราจะเป็นสินค้าที่มีวัฏจักรราคาหรือรอบของมันก็ตาม เมื่อบริษัทมีความมั่นคงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิต และออกสินค้าตัวอื่น ๆ เพิ่ม เช่น ยางอัดแท่ง และยางผสม ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
.
ผลประกอบการของ NER เป็นอย่างไร?
.
ปี 2561 รายได้ 10,074 ล้านบาท กำไร 486 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 13,021 ล้านบาท กำไร 539 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 16,364 ล้านบาท กำไร 859 ล้านบาท
.
รายได้เติบโต 62% ขณะที่กำไรเติบโต 76% ในช่วงเวลา 2 ปี ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากการปรับปรุงเครื่องจักรและสร้างโรงงานแห่งที่สองในบริเวณเดียวกัน
.
ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 232,800 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของกำลังการผลิตเดิม
ที่ 465,600 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังควบคุมต้นทุนการใช้พลังงานของบริษัท ด้วยการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ รวมถึงการติดตั้ง Solar Roof บนหลังคาโรงงาน ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่สูงมากขึ้น
.
สถานการณ์ยางพาราจะเป็นอย่างไรในปี 2565?
.
ปี 2565 คุณชูวิทย์มองว่า เป็นปีที่ราคายางจะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราของโลก 7 ปีข้างหน้า (2565-2571) จากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ที่คาดการณ์ไว้ว่า หากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเพียง 3% ก็จะทำให้ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ ซึ่งจะทำให้ยางโลกเกิดการขาดแคลน
.
.
เรียบเรียงจาก: Journal of Mekong Societies ลงทุนแมน มิติหุ้น และฐานเศรษฐกิจ
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ยางพารา