Medical Tourism ทางเลือก หรือ ทางรอด ของไทยต่อจากนี้

👉 Medical Tourism คืออะไร สำคัญยังไง?
.
หลายคนคงยังไม่รู้ว่า ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 รายได้ที่กำลังเติบโตด้านหนึ่งของประเทศไทย มาจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งก็คือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีจุดประสงค์เดินทางเข้ามาในไทยเพื่อทำการผ่าตัดหรือรักษาโรค ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว โดยเป็นช่องทางรายได้ที่รัฐบาลไทยวางโร้ดแมปเป็นนโยบายไว้ตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้ชื่อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ.2560 – 2569)
.
👉 จากโครงสร้าง Medical Tourism ของไทย ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย?
.
อันดับแรก คงหนีไม่พ้นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ และศูนย์การแพทย์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมจากต่างประเทศ ซึ่งกินสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
.
รองลงมา เป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว สายการบิน และค้าปลีกที่อยู่ในโซนท่องเที่ยว กินสัดส่วนรายได้ 35.7 % ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
.
สุดท้าย ธุรกิจการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงการแพทย์ทางเลือก เช่น ธุรกิจสปา และแพทย์แผนไทย ที่กินสัดส่วนรายได้อีก 14.3 % ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
.
👉 พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย เป็นอย่างไร?
.
ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยนิยมใช้บริการ “ทันตกรรม” มากที่สุด คิดเป็น 38% ของจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั้งประเทศ ขณะที่ “การศัลยกรรมความงาม” สร้างรายได้มากที่สุด โดยในปี 2562 การศัลยกรรมความงามสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
.
👉 อนาคตตลาด Medical Tourism ของไทย จะโตแค่ไหน?
.
ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีโอกาสเติบโตตามเทรนด์ของตลาดโลกที่คาดว่าจะแข่งขันกันดุเดือดขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งไทยมีความพร้อมสูง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางด้านการบริการสุขภาพหลักของเอเชีย โดยมีนักท่องเที่ยวที่จัดอยู่ในเชิงการแพทย์ของทั้งภูมิภาคเอเชียราว 38% และมีสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานตามระบบสากล (JCI) มากถึง 60 แห่ง มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ 4 ของโลก
.
อีกทั้งมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่แพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการศัลยกรรมความงาม และการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ภาวะมีบุตรยาก เวชศาสตร์ชะลอวัย และผ่าตัดแปลงเพศ การที่ไทยมีค่ารักษาพยาบาลก็ถูกกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคและประเทศช้ันนำอย่างสหรัฐฯ และมีค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก เหมาะแก่การพำนักรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายในระยะยาว
.
Allied Market Research คาดว่า มูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.2% (CAGR ปี 2019-2027) โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ในประเทศไทย ประมาณ 7.7 ล้านคน
.
👉 อีสาน พร้อมรับกับ Mega Trend นี้ยังไง?
.
สำหรับภาคอีสานเรา แม้มีสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI เพียง 4 แห่ง แต่ปัจจุบันกำลังผลักดัน โดยให้จังหวัดขอนแก่นเป็น “ศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศหรือ Medical Hub ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมและงานบริการ ที่เป็นจุดสำคัญหากต้องการเตรียมพร้อมสู่ Medical Tourism
.
ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยว แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดที่น้อย แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็นับว่ามีการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และโบราณสถาน มีการปรับปรุงเรื่องของกฎระเบียบการเข้าชม เพื่อคงความสวยงามของธรรมชาติ รวมไปถึง Virtual Tour แบบพอเป็นน้ำจิ้มกระตุ้นความอยากมาสัมผัสจริง
.
สุดท้าย ตลาด Medical Tourism จะไม่ใช่แค่ทางเลือกในการพัฒนา แต่จะเป็นทางรอดซึ่งหมายรวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อจากนี้ด้วย
.
.
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ In-Touch Research & Consultancy, Allied Market Research และรายงาน รีสตาร์ท Medical Hub พาเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19 จัดทำโดย Krungthai COMPASS
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #MedicalTourism

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top