ประเทศไทย ประเทศเทา รายได้ใต้เงา กับธุรกิจนอกระบบในสังคมไทย

ธุรกิจรายย่อยในประเทศไทยนับหมื่นรายถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการจ้างงาน และการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ไม่มากก็น้อย แม้ว่าธุรกิจในกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยแต่ผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มนี้หลายรายไม่ได้มีการจดทะเบียนธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหรือเรียกว่าธุรกิจนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนพาณิชย์หรือนิติบุคคลก็ตาม ส่งผลให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต้มหน่วย อีกทั้งธุรกิจนอกระบบเหล่านี้เนื่องจากไม่ได้มีการจดทะเบียนทำให้ลูกจ้างนั้นไม่ได้มีการส่งเข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งถือเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างเช่นกัน
รายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ในปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และใหญ่ที่สุดในอาเซียน คิดเป็นมูลค่าราว 7 ล้านล้านบาท จากมูลค่า GDP ที่ 15.7 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหากรวมเศรษฐกิจนอกระบบเข้าไปจะทำให้ GDP โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 22.7 ล้านล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ถูกนำมาบันทึกในระบบ และบ่งชี้ว่า หากสามารถดึงสัดส่วนที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้ ก็จะทำให้รายได้ของรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มเติม และสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากขึ้น และจากรายงานของ OECD ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียนกว่า 80% ของธุรกิจ และ 55% ของแรงงาน ยังคงอยู่นอกระบบ ซึ่งหมายความว่าแรงงานจำนวนมหาศาลไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ขาดหลักประกันทางสังคม และไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก

รูปที่ 1 ขนาดเศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลก พ.ศ. 2563


ที่มา: World Bank

เมื่อพิจารณาจากธุรกิจทั่วประเทศ พบว่า จากการรายงานของ สสว. ประเทศไทยมีผู้ดำเนินกิจการประมาณ 3.2 ราย แต่มีเพียง 890,000 รายเท่านั้นที่จดมีการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่แจ้งว่ามีจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนและยังดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นราว 9.3 แสนแห่ง สะท้อนว่าเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ประกอบการรายย่อยยังคงดำเนินกิจการอยู่นอกระบบ ซึ่งเป็นผลจากทั้งอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ขั้นตอนการจดทะเบียนที่ซับซ้อน การขาดความรู้ด้านบัญชีและกฎหมาย ตลอดจนปัจจัยด้านพฤติกรรม เช่น ไม่เห็นความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบ ซึ่งหากผู้ประกอบการที่เหลือมีการเข้าสู่ระบบทั้งหมด จะทำให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
ธุรกิจนอกระบบมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากธุรกิจในระบบอย่างชัดเจน โดยมักดำเนินการอยู่ในระดับครัวเรือนหรือรายบุคคล เช่น ร้านขายของชำขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหารในชุมชน ช่างฝีมืออิสระ และบริการพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งกระจายอยู่ในหลากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม การค้าปลีกขนาดเล็ก และภาคบริการ

รูปที่ 2 สัดส่วนธุรกิจที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีสัดส่วนของธุรกิจนอกระบบสูงที่สุด โดยกว่า 90% ของร้านค้าในพื้นที่ไม่ได้จดทะเบียนกับภาครัฐ รองลงมาคือภาคเหนือ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ปัจจัยที่มีผล ได้แก่ ระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชนในพื้นที่ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความพร้อมด้านทักษะและเทคโนโลยี ตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคดังกล่าวขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนหรือการสนับสนุนด้านพัฒนาอาชีพ และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากธุรกิจในระบบที่มีสิทธิประโยชน์มากกว่า

รูปที่ 3 สัดส่วนธุรกิจนอกระบบ แบ่งตามภูมิภาค


ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ในด้านแรงงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน แต่มีเพียง 19 ล้านคนที่อยู่ในระบบ และเพียง 14 ล้านคนที่ได้รับสวัสดิการทางสังคมอย่าง กบข. หรือ ประกันสังคม ม.33 ส่วนอีก 21 ล้านคนยังคงอยู่ในระบบแรงงานนอกระบบ โดยในจำนวนนี้มีเพียง 15 ล้านคนที่สมัครเข้าระบบสวัสดิการสังคมแบบสมัครใจ เช่น ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเป็นมาตราทางเลือกที่สมัครใจ และให้สิทธิประโยชน์บางส่วนเท่านั้น แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ขณะที่ภาคบริการ เช่น แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี งานขนส่ง งานฟรีแลนซ์ และเศรษฐกิจดิจิทัล กำลังกลายเป็นแหล่งจ้างงานใหม่ของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) แม้แพลตฟอร์มเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถหารายได้ด้วยตนเอง แต่ก็มาพร้อมกับความไม่แน่นอนด้านรายได้ การไม่มีประกันสังคมหรือหลักประกันรายได้ระยะยาว อีกทั้ง รายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกระบบยังคงต่ำกว่าแรงงานในระบบในทุกภาคการผลิต โดยมีความแตกต่างกันชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ สาเหตุหลักมาจากระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า ทักษะที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานสมัยใหม่ และโอกาสในการพัฒนาตนเองที่จำกัด ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ติดอยู่กับงานที่มีผลตอบแทนต่ำ และยากต่อการเลื่อนระดับอาชีพ

รูปที่ 4 สวัสดิการสังคมของแรงงานไทย


ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม

ภาคอีสานของประเทศไทยถือเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเชิงประชากร เศรษฐกิจฐานราก และทรัพยากรมนุษย์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาคอีสานกลับเป็นพื้นที่ที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจนอกระบบได้ชัดเจนที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะในด้านความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ และความเปราะบางของแรงงาน
แรงงานคนอีสานถือเป็นแรงงานที่มีความสำคัญและมีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่จำนวน 9.6 ล้านคน เป็นรองเพียงภาคกลางที่มีจำนวน 13.4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานภาคอีสานทำงานในภาคเกษตรกรรมและภาคการค้าที่ไม่มีสัญญาจ้างถาวร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทำให้ขาดหลักประกันทางสังคม และไม่มีสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคม เช่น การลาคลอด การรักษาพยาบาล หรือเงินบำนาญในระยะยาว แม้ว่าจะมีความพยายามส่งเสริมให้แรงงานเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านความเข้าใจในสิทธิของตนเอง และกำลังในการจ่ายเงินสมทบอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาที่ตามมาจากการที่เป็นแรงงานนอกระบบคือรายได้น้อย และการทำงานที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ หนึ่งในทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการย้ายถิ่นของคนอีสานเข้าสู่กรุงเทพเพื่อแสวงหางานที่มีรายได้ดีกว่าไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานที่อยู่ในระบบ หรือนอกระบบก็ตาม แต่จากสัดส่วนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแรงงานในระบบเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการที่พื้นที่กรุงเทพมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบน้อยที่สุดในประเทศ

รูปที่ 5 สัดส่วนแรงงานนอกระบบ แบ่งตามภูมิภาค

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการนำธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่ระบบมีหลายประการ ตั้งแต่เรื่องของกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ขั้นตอนในการจดทะเบียนธุรกิจที่ซับซ้อน ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 47 ของโลกในด้านความง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งแม้จะดูไม่แย่แต่ก็ไม่ได้ดีซักเท่าไหร่ ปัญหาหลักที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไขมีมากมายโดยเฉพาะการลดขั้นตอน การลดค่าธรรมเนียม และการรวมศูนย์ข้อมูลให้เข้าถึงง่ายขึ้น นอกจากนี้ เกณฑ์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียน VAT ซึ่งเทียบเท่ารายได้เพียงประมาณ 3 แสนบาทในมูลค่าปัจจุบัน หากคำนึงถึงเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับช่วงที่เกณฑ์นี้ถูกกำหนดในอดีต เกณฑ์ที่ไม่ทันสมัยนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่มีความพร้อมต้องแบกรับภาระต้นทุนมากเกินความสามารถ และลดแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้มีความพยายามในการทำให้ธุรกิจของตนมีรายได้มีสูงถึงเกณฑ์ที่ 1.8 ล้านบาทซึ่งถือเป็นการพยายามในการเลี่ยงภาษี อีกประเด็นที่สำคัญนอกจากการจดทะเบียนแล้วนั้นคือขั้นตอนการเลิกกิจการ ซึ่งต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่าย ทำให้บางรายเลือกที่จะไม่เลิกกิจการอย่างเป็นทางการแทน (การปล่อยร้าง)

รูปที่ 6 อันดับการเริ่มต้นธุรกิจ


ที่มา: World Bank

โดยสรุป แม้ธุรกิจรายย่อยและแรงงานนอกระบบจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การที่ส่วนใหญ่ยังอยู่นอกระบบ ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ แรงงานขาดหลักประกัน และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หากสามารถลดอุปสรรคและส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้แรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อ้างอิงจาก

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
  • สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • สำนักงานประกันสังคม
  • กรมสรรพากร
  • OECD
  • World Bank

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top