ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยมีความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดลักษณะการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพและความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ โดยรวมแล้วจะก่อให้เกิด “ความชำนาญ” ทางสาขาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การเกษตร อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยว ที่แตกต่างกันไปกัน โดยในภาคอีสาน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำการเกษตรมากที่สุด หลายๆคนคงคิดว่าหลาย ๆ เศรษฐกิจของจังหวัดในอีสานคงจะมี ‘ความเชี่ยวชาญ’ ทางด้านการเกษตรสูงสุด แต่เมื่อมาวิเคราะห์ดูจริงๆแล้ว อาจจะไม่ใช่เสมอไป ซึ่งแต่ละจังหวัดในอีสานจะเชี่ยวชาญในสาขาเศรษฐกิจใดบ้าง ติดตามได้ในส่วนถัดไป
การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจรายสาขา ว่าสาขาใดบ้างที่แต่ละจังหวัดมีความเชี่ยวชาญนั้น ผู้เขียน “เศรษฐกิจอีสาน 2 ทศวรรษ” ได้ใช้ดัชนี Location Quotient หรือ LQ เป็นวิธีการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้วัดความชํานาญของเศรษฐกิจเฉพาะถิ่นเพือเปรียบเทียบกับพื้นที่โดยรวม นอกจากนั้นได้ใช้การวิเคราะห์ที่เปรียบเทียบการเติบโตในระดับภูมิภาคกับการเติบโตในระดับประเทศเพื่อให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ ผ่านเครื่องมือ D-shift โดยเป็นค่าที่อธิบายว่าเศรษฐกิจรายสาขาของจังหวัดหนึงมีความเติบโตเพิ่มขึนหรือลดลง
ผลการวิเคราะห์คือ สาขาเกษตรกรรมมีเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เท่านั้น ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ อาจเป็นจังหวัดดังกล่าวมีพื้นทีติดริมน้ำโขงและเหมาะกับการปลูกพืชผักในฤดูน้ำลด เนื่องจากดินจะมีสารอาหารมาก และบางพื้นที่ยังเหมาะกับการปลูกผลไม้อื่น นอกจากนั้นในสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ พบว่า จังหวัดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี มีความเชี่ยวชาญในสาขาเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น มีความเชี่ยวชาญสาขาการผลิต และ อุดรธานี และอุบลราชธานี เชี่ยวชาญสาขาการขายส่งและขายปลีก กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่าหลายจังหวัดในภาคอีสาน ไม่ปรากฏความเชี่ยวชาญและโดดเด่นในสาขาเศรษฐกิจใดเลย นำไปสู่ข้อสังเกตเชิงพัฒนา เช่น บางจังหวัดวางแผนการพัฒนาเป็นเกษตรทันสมัย แต่ไม่ปรากฏความเชี่ยวชาญและเติบโตด้านเกษตรเลย โดยประเด็นเหล่านี้ควรนำไปสู่การทำนโยบายและการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญในพื้นที่ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
หมายเหตุ: เป็นการวิเคราะห์ความเชี่ยวชาญและการเติบโตของสาขาเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดผ่านเครื่องมือ Location Quotient Index และ Differential Shift
ตัวอย่างนี้เป็นเพียงบางประเด็นที่หยิบยกซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เศรษฐกิจอีสาน 2 ทศวรรษ” เขียนโดย ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา และ รศ.ดร.นรชิต จิรสัทธรรม ภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเล่าถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคม แรงงาน และการเงินของภาคอีสานในช่วงพ.ศ. 2540 – 2560 เป็นหนังสือที่นักธุรกิจในอีสาน ผู้ที่สนใจด้านเศรษฐกิจสังคม นักศึกษา ไม่ควรพลาดแม้แต่ประการทั้งปวง หรือ บุคคลทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์มาก่อน ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาและได้ความรู้จากของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างง่ายๆ
โดยสามารถเข้าไปอ่านได้ฟรี! ทางเว็บไซต์ของอีสาน อินไซต์ หรือคลิกที่ที่ลิงก์
ที่มา: หนังสือ เศรษฐกิจอีสาน 2 ทศวรรษ