ศึกจักรยานยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกหรือ MotoGP ฤดูกาล 2025 ก็จะเริ่มเปิดสนามอย่างเป็นทางการกันแล้ว และสนามแรกก็ประเดิมที่บ้านเราเลยกับ ‘พีที กรังด์ปรีซ์ ออฟ ไทยแลนด์’ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคมนี้ ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ แถมในปีนี้แฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตไทยก็มีเรื่องราวให้น่ายินดีมากขึ้นไปอีกเพราะเราจะได้เชียร์ ‘คิงคองก้อง’ สมเกียรติ จันทรา นักบิดไทยคนแรกที่ได้ลงแข่ง MotoGP ไปกันยาวๆ ในซีซั่นนี้ โดยมีแข่งขันสนามแรกประจำฤดูกาลที่บุรีรัมย์
โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปีที่ 6 ซึ่งดอร์นา สปอร์ต เปิดเผยว่า ทั้ง 3 อีเวนต์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 23 ล้านยูโร หรือประมาณ 819 ล้านบาท ไม่รวมกับงบประมาณจัดงานจากฝั่งการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.
ซึ่งบทบาทในปีนี้ถือเป็นโอกาสทองจาก 22 สนามที่จะถูกจัดขึ้นทั้งปีทั่วโลก เนื่องจากได้รับความสนใจจากทั้งสื่อมวลชนและแฟนความเร็วมากที่สุด เพราะจะได้เห็นนักแข่งกับการวางแผนทำงานของทีมแข่ง ภายใต้รถแข่งในเทคโนโลยีใหม่, ผลงานภายใต้สนามนี้ เรียกว่าเป็นสนามที่จะชี้ชะตาของฤดูกาล 2025 เลยก็ว่าได้ และการได้รับโอกาสเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของ “สนามประเทศไทย” ที่โดดเด่นมากที่สุดสนามหนึ่งของโลก
โมโตจีพี MotoGP ในปีนี้เป็นปีที่ทุบสถิติในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจเเละตัวเลขผู้ชมที่มากเป็นประวัติการณ์ในปี 2568
.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยข้อมูลสำคัญ PT Grand Prix of Thailand 2025 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-2 มี.ค. 2025 ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 224,634 คน เป็นคนไทย 172,565 คน ชาวต่างชาติ 52,069 คน มูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 5,043 ล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่ายกว่า 4,268 ล้านบาท ใช้งบจัดงาน 775 ล้านบาท สร้างงาน 7,772 ตำแหน่ง ภาษีที่รัฐเก็บได้กว่า 318 ล้านบาท
ที่มา : กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา
.
.
Motorsports: กีฬาความเร็วกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
Motorsports หรือกีฬาแข่งขันความเร็วที่ใช้ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมทั่วโลก การแข่งขันรายการใหญ่ เช่น Formula 1, MotoGP, Nascar และ IndyCar ดึงดูดแฟนกีฬาจำนวนมาก และมีการจัดแข่งขันในหลายประเทศ ทำให้ Motorsports มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก
ในช่วงที่ผ่านมา Motorsports ได้ขยายฐานแฟนกีฬาผ่านสื่อบันเทิงและการนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังการแข่งขัน ซึ่งช่วยให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจการแข่งขันมากขึ้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้สนามแข่งในแต่ละประเทศมีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่มากขึ้นจากการจำหน่ายบัตรเข้าชม สิทธิ์การถ่ายทอดสด สปอนเซอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Motorsports ระดับโลกนั้น มีต้นทุนสูงและมีประเด็นที่ต้องพิจารณาไม่ว่าจะเป็นค่าลิขสิทธิ์การแข่งขันที่สูง, งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น สนามแข่ง ถนน ระบบขนส่ง และที่พัก ตลอดจน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
แม้จะมีความท้าทาย แต่การเป็นเจ้าภาพ Motorsports ก็มีข้อดีเช่นกัน การแข่งขันระดับโลกสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศเจ้าภาพ กระตุ้นการท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การคมนาคม และธุรกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานให้กับแรงงานในประเทศอีกด้วย
.
.
การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจเเละความคุ้มค่าของกิจกรรมการกีฬา
ตามหลักเศรษฐศาตร์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจในที่นี้จะเเบ่งเป็น 3 ส่วน
- ผลกระทบทางตรง (Direct Effect) ประกอบด้วย รายได้ ผลผลิต การจ้างงาน และรายรับภาษีที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาตามที่กำหนดในตาราง IO ของประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการจัดการแข่งขันกีฬา
- ผลกระทบทางอ้อม (Indirect Effect) ประกอบด้วย ผลผลิต การจ้างงาน และรายรับภาษีที่เกิดจาก ธุรกิจที่เป็นห่วงโช่อุปทาน (Supply Chain) นั่นคือ อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกีฬาในตาราง IO ของประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการจัดการแข่งขันกีฬา
- ผลกระทบเชิงชักนํา (Induced Effect) ประกอบด้วย รายได้ ผลผลิต การจ้างงาน และรายรับภาษีอันเกิดจากการใช้จ่ายรายได้ที่ได้จากกิจกรรมในทางตรงและทางอ้อมในการอุปโภคบริโภค ซื้อหาอาหารและเครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และสิ่งอุปโภคบริโภคต่าง ๆ
.
สามารถคํานวนได้ดังนี้
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ = ผลกระทบทางตรง + ผลกระทบทางอ้อม +ผลกระทบชักนํา
โมโตจีพี สนามประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 24,853 ล้านบาท ถูกเผยแพร่สู่สื่อมอเตอร์สปอร์ตยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ด้วยเสน่ห์ความเป็นไทย ในหลากหลายมิติ สุดยอดอีเว้นต์ที่มากกว่าการแข่งขัน มีผู้ติดตามชมมากกว่า 1,000 ล้านคน จาก 220 ประเทศทั่วโลก
จากการได้รับสิทธิ์จัดการแข่งขันโมโตจีพี ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมานั้น (ปี 2563 และปี 2564 ไม่มีการจัดการแข่งขันเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19) มีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 25,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานถึง 3 หมื่นคน
.
สำหรับผลงานที่ผ่านมา จำแนกได้ดังนี้
- ปี 2561 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 222,535 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3,053 ล้านบาท
- ปี 2562 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 226,655 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3,457 ล้านบาท
- ปี 2565 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 178,463 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4,048 ล้านบาท
- ปี 2566 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 179,811 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4,493 ล้านบาท
- ปี 2567 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 205,373 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4,759 ล้านบาท
- ปี 2568 มีผู้ชมเข้าร่วมงาน 224,634 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5,043 ล้านบาท
ที่มา : กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา
.
โมโตจีพี เเม่เหล็กดึงการท่องเที่ยวบุรีรัมย์
ข้อมูลจากสํานักงานสถิติจังหวัดบุรีรัมย์เผยประสบการณ์จากการที่นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงาน PT Grand Prix of Thailand 2024 ทําให้ในอนาคตนักท่องเที่ยวมาอยากท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์สูงถึงเกือบ 90 % อีกทั้งผู้ร่วมงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด คิดเป็น 80.6 % และอีก19.4 %อาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมไปถึงชาวต่างชาติที่ได้เข้าร่วมงานจํานวนมากกว่าครึ่งเเสน
.
เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์หลักของผู้ร่วมงานที่เดินทางมาพื้นที่จัดงาน PT Grand Prix of Thailand 2024
เรียงตามลําดับดังนี้
- ชมการแข่งขันจักรยานยนต์ 80.2 %
- ชมบรรยากาศการแข่งขัน/ซื้อสินค้า/รับประทานอาหาร 42.1 %
- มาท่องเที่ยวบุรีรัมย์ 19.3 %
- ชมการแสดงดนตรี 18.1 %
- ชมการชกมวย 9.8%
นอกจากนี้ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่คาดว่าจะมาร่วมงานในครั้งต่อไปถึง 89.6%
.
การจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก โมโตจีพี ในประเทศไทยไม่เพียงแต่สร้างรายได้หมุนเวียนในหลายภาคส่วนของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น โรงแรม อาหาร เครื่องดื่ม ตั๋วเครื่องบิน และการท่องเที่ยวสันทนาการ ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ที่สำคัญในประเทศ
การแข่งขันโมโตจีพีในประเทศไทยยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมาร่วมชมการแข่งขัน ด้วยจำนวนผู้ชมหลักเเสนคน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการรองรับและจัดการการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านสถานที่และการขนส่ง โดยสามารถสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้เดินทางทุกคน
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์กลางการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติและเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับการจัดอีเว้นท์ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนและผู้จัดงานระดับโลก พร้อมกับการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศผ่านการถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย
.
อ้างอิง
- กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเเละกีฬา
- ประชาชาติธุรกิจ
- สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
- สํานักงานสถิติจังหวัดบุรีรัมย์
- Report PT Grand Prix Of Thailand 2024