จากปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
.
หากย้อนกลับไปดูสัดส่วนประชากรไทย ปี 2513 หรือเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว
.
วัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) สัดส่วน 45.1%
วัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) สัดส่วน 50%
วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สัดส่วน 4.9%
.
เทียบกับสัดส่วนประชากรไทย ปี 2563
วัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) สัดส่วน 16.9%
วัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) สัดส่วน 65%
วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สัดส่วน 18.1%
.
จะเห็นว่า ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า จาก 4.9% เป็น 18.1% ในขณะที่ประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) มีสัดส่วนลดลงเป็นเท่าตัว จาก 45.1% เหลือเพียง 16.9% โดยปี 2563 นับเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2562 ที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก
.
และตามการคาดการณ์ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถึงสัดส่วนประชากรไทยในปี 2583 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า
.
วัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) สัดส่วน 12.8%
วัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) สัดส่วน 55.8%
วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สัดส่วน 31.4%
.
จะเห็นว่า สัดส่วนของประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ในขณะที่ประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 12.8% เท่านั้น ยิ่งสะท้อนปัญหาสัดส่วนประชากรที่ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป
.
.
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แล้ว แต่กลับมีอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
.
เดิมทีไทยมีอัตราการเกิดของประชากรเติบโตราว 3% ต่อปี แต่เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้อัตราการเกิดโตในหลักต่ำกว่า 1% และอาจถึงขั้นติดลบในอนาคต ทั้งนี้ ปี 2563 นับเป็นปีแรกในรอบครึ่งศตวรรษ ที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน
.
ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงของประชากรสูงอายุต่อประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในปี 2563 ผู้สูงอายุ 1 คนถูกดูแลจากประชากรวัยแรงงาน 3.6 คน แต่ปี 2583 คาดว่า ผู้สูงอายุ 1 คนจะถูกดูแลจากประชากรวัยแรงงาน 1.8 คนเท่านั้น
.
.
เมื่อลองมาดูสัดส่วนประชากรอีสานต่อประชากรในประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 – 2563 (10 ปีที่ผ่านมา)
.
วัยเด็ก (0-14 ปี) มีสัดส่วนลดลงจาก 6.5% เหลือ 5.4%
วัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) มีสัดส่วนลดลงจาก 22.9% เหลือ 21.9%
วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 3.9% ไปเป็น 5.6%
.
ทำให้พอจะคาดการณ์ปัญหาได้ในลักษณะเดียวกับประเทศ คือ 1.การเข้าสู่สังคมสูงอายุ และ 2.อัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเด็กอีสานที่เกิดใหม่มีจำนวนลดลงจาก 2.3 แสนคนในปี 2554 มาอยู่ที่ 1.6 แสนคนในปี 2563
.
.
สาเหตุของปัญหาคืออะไร?
.
ความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนประชากรไทยเริ่มต้นในช่วงปี 2513 กับการมาถึงของนโยบายวางแผนครอบครัว ส่งเสริมการคุมกำเนิด รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยขยับขึ้นจาก 50-60 ปี มาเป็น 80 ปี หรือก็คือ ผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยยาวนานขึ้น
.
นอกจากนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีผลต่อการตัดสินใจมีลูกของคนไทย เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้เงินจำนวนมาก คู่แต่งงานจึงตัดสินใจชะลอการมีลูกหรือลดจำนวนลูกที่ต้องการจะมีลง
.
และอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง คือ ‘ขาดแคลนสวัสดิการในการดูแลเด็ก’ ไม่ว่าจะเป็นสถานเลี้ยงดูเด็ก ขาดความยืดหยุ่นของเวลาทำงานของพ่อแม่ ขาดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงยังมีการกีดกันแบ่งแยกในการทำงานสำหรับคนมีลูก
.
โดยหากเปรียบเทียบกับนโยบายเพิ่มประชากรในระดับโลกจะเห็นว่าหลายประเทศมีนโยบายจริงจังและครบวงจรทั้งในประเทศที่ประสบและไม่ประสบกับปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำ
.
เช่น สิงคโปร์ที่มีนโยบายครบวงจร ตั้งแต่การหาคู่ ซื้อบ้านหลังแรก เงินช่วยเหลือ ไปจนถึงโบนัสสำหรับคนมีลูก หรือในแถบสแกนดิเนเวียที่มีการให้เงินช่วยเหลือ จัดสถานเลี้ยงดูเด็ก ลดชั่วโมงการทำงาน จัดให้ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่น
.
ดังนั้น ถ้าไทยต้องการปรับโครงสร้างประชากร ลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่จะทวีความรุนแรงขึ้นหากอัตราการเกิดยังคงต่ำลงเรื่อย ๆ อยู่ รัฐต้องทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ลังเลใจที่จะมีลูก ทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน การดูแลลูก หรือแม้แต่สถานเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน รัฐจำเป็นจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม ให้เอกชนเป็นผู้ทำตาม อาจมีการให้ส่วนลดภาษีในที่ทำงานที่มีสถานที่สำหรับเลี้ยงดูเด็ก เป็นต้น
.
.
ที่มา: รายการ TOMORROW ‘คนไทยไม่อยากมีลูก จุดเริ่มต้นวิกฤตขาดแคลนแรงงาน’, รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563 และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน