คนไทยสนใจเล่น – ดูกีฬามากขึ้น

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 0.71 บาท
จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 บาท
.
การดำเนินการกีฬาก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยปี 2558 อุตสาหกรรมกีฬาของไทยมีผลประกอบการรวมประมาณ 12.2 พันล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 20% ตั้งแต่ปี 2554-2558
.
จากการศึกษาของศูนย์พยากรณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ 0.71 บาท จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 บาท
.
ทั้งนี้ กีฬาแต่ละชนิดมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในสัดส่วนที่ต่างกัน โดยเฉพาะประเภทกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ฟุตบอล ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ในส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน
.
จากผลการสำรวจเกี่ยวกับความนิยมในกีฬาฟุตบอล ปี 2559 ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า คนไทยติดตามฟุตบอลไทยลีกเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันในสนาม เรทติ้งในช่วงของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก สื่อโฆษณาที่ใช้นักฟุตบอลประชาสัมพันธ์สินค้า รวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารและการจัดตั้งแฟนเพจกีฬา
.
อีกทั้งยังเริ่มเห็นเทรนด์การเดินทางไปเชียร์ทีมที่ชื่นชอบยังสนามในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยหากดูทีมฟุตบอลที่ได้ลงแข่งไทยพรีเมียร์ลีก และลีกภูมิภาค โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำฤดูกาล 2564/65 จะพบว่ามีมากถึง 19 ทีม ดังนี้
.
ไทยลีก 1 ( T1 ) ประกอบด้วย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, หนองบัว พิชญ เอฟซี, นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี และขอนแก่น ยูไนเต็ด
.
ไทยลีก 2 ( T2 ) ประกอบด้วย อุดรธานี เอฟซี และขอนแก่น เอฟซี
.
ไทยลีก 3 ( T3 ) ประกอบด้วย เมืองเลย ยูไนเต็ด, ศรีสะเกษ เอฟซี, นครราชสีมา ยูไนเต็ด, อุบล ครัวนภัส เอฟซี, ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด, สุรินทร์ ซิตี้, ยโสธร เอฟซี, ขอนแก่นมอดินแดง ฟุตบอลคลับ, สกลนคร ทรูวิชั่น เอฟซี, อุดร ยูไนเต็ด, มหาสารคาม สามใบเถา เอฟซี, สุรินทร์ โขงชีมูล เอฟซี และมาแชร์ ชัยภูมิ เอฟซี
.
การที่ในพื้นที่อีสานมีทีมฟุตบอลที่ได้ลงแข่งจำนวนมาก อีกนัยหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาและการออกกำลังกายได้รับความนิยมสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาที่ไม่ใช่แค่จากผู้เล่น แต่ยังรวมไปถึงผู้ชมหรือแฟนกีฬาของแต่ละทีม
.
บวกกับกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่มองเครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬาเป็นแฟชั่นมากกว่าการใช้ประโยชน์ในด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว ก็ยิ่งผลักให้ธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาเติบโตขึ้นไปอีก
.
ปี 2561 ผลประกอบการธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬามีรายได้มากถึง 57,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.02% จากปี 2560 โดยมีจำนวนนิติบุคลที่นำส่งงบการเงินทั้งสิ้น 1,469 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็ก (S) หรือคิดเป็น 98% ของจำนวนนิติบุคลทั้งหมด
.
แม้ว่านิติบุคคลขนาดเล็กจะมีสัดส่วนมากกว่า แต่รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจกว่า 47% มาจากนิติบุคคลขนาดใหญ่ (L) ที่มีรายได้ในปี 2561 จำนวน 27,023 ล้านบาท ใกล้เคียงกับธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่มีรายได้ 23,594 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ขณะที่นิติบุคคลขนาดกลาง (M) ทำรายได้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% เท่านั้น
.
จึงพอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาขนาดใหญ่สามารถสร้างอัตราการเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนและอำนาจในการต่อรองสูงจากการซื้อในปริมาณมาก จึงได้ต้นทุนถูกกว่า ทำให้กำไรได้มากกว่า
.
ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจไม่ใช่เรื่องของส่วนแบ่งตลาด (Market Share) เพราะถึงแม้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่จะเห็นว่าธุรกิจยังสามารถเข้ามาดำเนินการและทำกำไรได้อยู่ แม้มูลค่าจะลดลงตามรายได้ที่ลดลง
.
ปัญหาน่าจะเป็นในเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาด โดยเฉพาะการสื่อสารให้ได้ตรงจุดกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการโฆษณาที่กว้างแล้ว ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้
.
ซึ่งถ้าถามว่าภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยด้วยวิธีการใดได้บ้าง จากการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจการกีฬาของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2564) เพื่อโอกาสในการจัดตั้งและพัฒนาเมืองต้นแบบทางด้านกีฬาในภูมิภาคทั่วไทย
.
ที่ใช้ปัจจัยสนับสนุน เช่น ศักยภาพและความพร้อมด้านพื้นที่ เพื่อการรองรับการแข่งขันและการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา รองรับผู้ชม และนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ตลอดจนความชำนาญและประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ
.
โดยหากมีการศึกษาถึงอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในพื้นที่ร่วมด้วย เช่น สโมสรกีฬา สถาบันสอนกีฬา ธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬา รวมไปถึงธุรกิจจัดทำของที่ระลึกต่าง ๆ นอกจากจะบรรลุผลของการเป็นจังหวัดต้นแบบเมืองกีฬาแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจขนาดกลาง (M) และขนาดเล็ก (S) เป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
.
.
ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเว็บคอบอลไทย
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top