เมื่อพูดถึงการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญมายาวนาน ด้วยการลงทุนมหาศาลในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภาคอีสานแม้จะเป็นพื้นที่ที่เคยเน้นเกษตรกรรม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ที่ดึงดูดทุนญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลล่าสุด พบว่ามีบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่กว่า 15 บริษัท ที่เข้ามาลงทุนในภาคอีสาน โดยมีเม็ดเงินลงทุนรวมกันหลายพันล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของภูมิภาคนี้ในการรองรับอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและแรงงานทักษะสูง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2567 เผยให้เห็นว่าญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 7,533 ล้านบาทในภูมิภาคนี้
อีสานอินไซต์จะพาเปิดรายชื่อ 15 ยักษ์ใหญ่ ที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในอีสาน
- บจก.คาสิโอ (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตนาฬิกา โดยมีมูลค่าการลงทุน 1,020 ล้านบาท
- บจก.โคยามา แคสติ้ง (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การหล่อเหล็ก โดยมีมูลค่าการลงทุน 855 ล้านบาท
- บจก.นิชิกาว่า เตชาพลาเลิศ คูปเปอร์📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาโดยมีมูลค่าการลงทุน 490 ล้านบาท
- บจก.เจวีซีเคนวูด ออพติคัล อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์โดยมีมูลค่าการลงทุน 488 ล้านบาท
- บจก.สตาร์ ไมโครนิคส์ (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไป โดยมีมูลค่าการลงทุน 406 ล้านบาท
- บจก.คายาม่า เอ็นจิเนียริ่ง📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตเครื่องทำความเย็นโดยมีมูลค่าการลงทุน 380 ล้านบาท
- บจก.ฮอนด้า เฟาดรี (เอเซียน)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ โดยมีมูลค่าการลงทุน 327 ล้านบาท
- บจก.ฟูจิคูระ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตสายไฟฟ้า, เคเบิลและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีมูลค่าการลงทุน 261 ล้านบาท
- บจก.ไทย อะคิบะ📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การหล่อโลหะ โดยมีมูลค่าการลงทุน 238 ล้านบาท
- บจก.แอลป์ส ทูล (ประเทศไทย)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตเครื่องจักร โดยมีมูลค่าการลงทุน 224 ล้านบาท
- บจก.ฮิตาชิ แอสเตโม โคราช📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ โดยมีมูลค่าการลงทุน 217 ล้านบาท
- บจก.แอดเดอรานสไทย📍บุรีรัมย์
ประกอบธุรกิจ การผลิตเครื่องประดับ โดยมีมูลค่าการลงทุน 210 ล้านบาท
- บจก.ยานอส (ไทยแลนด์)📍นครราชสีมา
ประกอบธุรกิจ ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้าง โดยมีมูลค่าการลงทุน 177 ล้านบาท
- บจก.ซาคาตะ สยาม ซีด📍ขอนแก่น
ประกอบธุรกิจ การปลูกธัญพืช โดยมีมูลค่าการลงทุน 162 ล้านบาท
- บจก.ซูมิรับเบอร์ ไทยอีสเทิร์น คอร์ปอเรชั่น📍อุดรธานี
ประกอบธุรกิจ การขายส่งผลิตภัณฑ์ โดยมีมูลค่าการลงทุน 140 ล้านบาท
การลงทุนของนักลงทุนจากญี่ปุ่น พบว่า มีการลงทุนในอุตสาหกรรมภาคการผลิตเป็นหลัก
- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยเฉพาะในนครราชสีมา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการส่งออก และโรงงานในอีสานอาจเชื่อมโยงไปยังภาคกลางที่เป็นศูนย์กลางการผลิตหลัก
- กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร
การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องสะท้อนว่าภาคอีสานเริ่มมีศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น สอดรับกับแนวโน้มโลกที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะและเหล็กกล้า
การผลิตและหล่อโลหะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักร มูลค่าการลงทุนสูง แสดงให้เห็นว่าภาคอีสานกำลังกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก
- กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับภูมิภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมกว้างขวาง อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และยางพาราได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในและต่างประเทศ
90% ของเงินลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเพียงแห่งเดียว
นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน เช่น ถนน ทางรถไฟ และสนามบิน นอกจากนี้ ยังมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่รองรับการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภาคอีสาน เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ นครราชสีมามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน มีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในจังหวัดนี้แล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุน
อีสานกำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ญี่ปุ่นเล็งเห็นในศักยภาพของอีสาน
– ต้นทุนแรงงานและค่าครองชีพต่ำ
แรงงานในภาคอีสานมีค่าแรงต่ำกว่าภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก
– โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นิคมอุตสาหกรรมและโครงการขยายถนนหลัก เช่น ทางหลวงมิตรภาพ และมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ทำให้การขนส่งสินค้าไปยังกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังสะดวกขึ้น
– ตลาดแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น
มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน เช่น ม.ขอนแก่น และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่รองรับอุตสาหกรรม
– สิทธิประโยชน์ทางภาษีและ BOI
นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI เช่น การลดภาษีนิติบุคคล และการนำเข้าเครื่องจักรโดยไม่เสียภาษี
การลงทุนของ 15 บริษัทญี่ปุ่น ในอีสานเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ จากพื้นที่เกษตรกรรมมาเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ และตลาดแรงงานที่กำลังพัฒนา ภาคอีสานอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทุนญี่ปุ่นในไทย และยังช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาระดับโลก
อ้างอิงจาก:
– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ#ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ธุรกิจต่างชาติ #ร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติ #ญี่ปุ่น #นักลงทุนญี่ปุ่น#มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่น #การลงทุนในอีสาน