นับเป็นปีที่ 3 แล้ว สำหรับโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
.
เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่และผู้ประกอบการได้สร้างสรรค์พัฒนาผ้าไทย ให้ได้รับความนิยมในระดับสากล ส่งเสริมการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยและเครื่องนุ่งห่มให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน
.
ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม คือการต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม
.
โดยสนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ประกอบด้วย Film, Food, Festival, Fashion และ Fighting ส่วนในเรื่อง Fashion (การออกแบบและแฟชั่น) เป็นการบูรณาการและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
.
.
ซึ่งในปี 2562 จัดขึ้นเป็นปีแรกนั้น มีผู้ประกอบการ 7 ชุมชน ที่ประสบความสำเร็จในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ต่างประเทศ การมียอดการสั่งผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น
.
การพัฒนาลวดลายบนผืนผ้าใหม่ ๆ การวางลายผ้าให้มีความทันสมัย มีความโดดเด่น เพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน รวมถึงการได้รับเชิญเข้าร่วมงานแสดงเครื่องแต่งกายในงานแฟชั่นที่ต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสาธารณรัฐออสเตรีย
.
รวมไปถึงการต่อยอดกับเทคโนโลยีเกิดเป็นนวัตกรรมเส้นใยผ้า ส่งผลให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำจัดและปกป้องกลิ่นกาย ป้องกันรังสียูวี เนื้อผ้าไม่ยับง่าย ดูแลรักษาง่าย และสวมใส่สบาย มีรายได้ทั้งจากงานหัตถกรรมและนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ้าในมิติผ้าไทยอีกด้วย
.
.
ในปี 2563 ได้ทำงานกับชุมชนถึง 14 ชุมชนทั่วประเทศไทย โดยนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH เผยว่า ในคอลเลกชั่น Post-Wore Delicacies (โพส วอร์ เดลิเคซี่) ดีไซน์ของเสื้อผ้าจะค่อนข้างเบสิก เน้นไปที่แมททีเรียล โดดเด่นด้วยนวัตกรรมเส้นใยที่เรียกว่า FILAGEN (ฟิลาเจน) และ Nanozinc (นาโนซิงค์) พยายามดึงจุดเด่นของแต่ละที่ออกมา ทำให้งานมีความน่าสนใจมากขึ้น และตรงตามความต้องการของตลาด
.
นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงผ่านแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภายในชุมชน กลุ่มที่ทอผ้าหรือผู้ประกอบการทั้ง 14 ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ได้แก่
.
– ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพ จังหวัดขอนแก่น
– ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น
– ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น
– ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี
– ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอนฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่
– เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์
– บาติกเดอนารา จังหวัดปัตตานี
– ชาคราฟท์ จังหวัดแพร่
– ผ้าซาโลมา ปาเต๊ะ จังหวัดนราธิวาส
– ไฑบาติก จังหวัดกระบี่
– ร้านฝ้ายเข็น จังหวัดอุบลราชธานี
– บ้านหนองอีบุตร จังหวัดกาฬสินธุ์
– ฉัตรทองไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา
– ฅญา บาติก นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
.
.
และในปี 2564 นี้ ทางโครงการได้จัดกิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564
.
โดยผู้ประกอบการ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ได้ออกแบบภายใต้แนวคิดหลัก “สังคมสรรค์สร้าง Social Creation” ซึ่งเป็นองค์ความรู้จากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Texiles Trend Book Spring/Summer 2022) มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้
.
รางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และสิ่งทอสร้างสรรค์ ซึ่งผลงานเหล่านี้ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ให้มีการนำภูมิปัญญามาต่อยอดให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล และใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น
.
ในการประกวดครั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์แล้ว และอีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวทีประกวดด้านสิ่งทอที่ในไทยไม่ค่อยมีให้เห็น อาจถือได้ว่าเป็นการจัดประกวดครั้งแรกในรูปแบบนี้เลยก็ว่าได้
.
ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญหรือทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในด้านสิ่งทอและการออกแบบ ก็คือการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือของที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แล้วนำมาผสมผสานกับบริบทอื่น ๆ ในตลาดสากล พร้อมสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับชาติต่อไป
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
อ้างอิง:
https://www.naewna.com/lady/611970
https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/617274