ปัจจุบันโลกดิจิทัลทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะคนเมือง คนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์มีความยืดหยุ่น จากแต่ก่อนที่ทำงานประจำ ต้องนอนเร็ว ตื่นแต่เช้าไปทำงาน ผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและความพร้อมของสาธารณูปโภคที่สามารถทำงานหรือติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา จนทำให้ Sleepless Society หรือสังคมคนนอนดึกขยายตัวอย่างรวดเร็ว
.
บริษัทวิจัยการตลาด The Nielsen Company ชี้ว่าผู้บริโภคในภาคอีสานมีรูปแบบของครอบครัวเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้นกว่าภาคอื่น จากการขยายตัวของสัดส่วนที่พักอาศัยขนาดเล็กอย่าง คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ และทาวน์เฮ้าส์ รวมไปถึงธุรกิจของตกแต่งบ้าน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ สะท้อนถึงความต้องการที่เปลี่ยนไปเป็นแบบคนเมือง
.
ครั้งนี้เราจึงอยากพามาทำความรู้จักกับธุรกิจ 24 ชั่วโมงที่เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มคนนอนดึก ซึ่งหลายธุรกิจไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ภาคอีสานเองก็เริ่มมีบ้างแล้วเช่นกัน มาดูกันว่ามีธุรกิจอะไรบ้าง
.
1. ร้านสะดวกซื้อ
ปัจจุบันผู้บริโภคมองว่า ความสะดวกสบายกลายเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตไปแล้ว ตัวอย่างหนึ่งในผู้นำธุรกิจนี้คือ 7-Eleven, FamilyMart, Mini Big C และ Tesco Lotus Express ที่ได้ขยายสาขาและพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่ตลอด
.
2. ร้านอาหาร
เพราะทำงานดึกเรื่องกินจึงสำคัญ ร้านอาหารหลายร้านเริ่มหันมาเปิดให้บริการทั้งกลางวันและกลางคืน หรือเป็นแบบเดลิเวอรี่ ตัวอย่างเช่น ร้านถูกและดี Foodland, เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ, McDonald’s, Little Hong Kong และ Salmonzing
.
3. ร้านสะดวกซัก
ที่สามารถซักได้ทุกเวลา มีเครื่องอบแห้งที่ทำให้ผ้าบางประเภทแห้งสนิท สวมใส่ได้ทันที ช่วยประหยัดเวลาได้มาก ปัจจุบันมีธุรกิจร้านสะดวกซักอยู่ประมาณ 300 สาขาในไทย และคาดว่าในอีกไม่เกิน 5 ปี ข้างหน้า ธุรกิจนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มถึง 500-600 สาขา
.
4. ฟิตเนสเซ็นเตอร์
เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนทำงานในเมืองที่เลิกงานดึก ไม่สามารถไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือฟิตเนสที่มีเวลาเปิดให้บริการตายตัวได้ จึงเป็นโอกาสของฟิตเนสที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยตัวอย่างของฟิตเนสที่เปิดบริการ 24 ชม. เช่น Jetts Fitness ซึ่งได้ประเดิมที่ภาคอีสานตั้งแต่ปี 2019, Fitness 24 Seven และ Fitwhey Gym
.
5. Co-Working Space
เมื่อมีคนชอบทำงาน นั่งจิบกาแฟ และรับประทานอาหารในช่วงเวลาดึกมากขึ้น จึงต้องมีพื้นที่รองรับคนกลุ่มนี้ ทำให้เกิด Co-Working Space ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง เช่น Samyan CO-OP, NapLab Chula, และ Spaces จามจุรี สแควร์ เพื่อให้ผู้คนมานั่งทำงานและนั่งเล่นพักผ่อนได้
.
6. Community Mall
เดิมทีศูนย์การค้าเปิดบริการถึง 4 ทุ่ม คนก็เดินน้อยเต็มที แต่ปัจจุบัน Community Mall หลายแห่งกลับเปิดบริการแบบ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น เดอะ สตรีท รัชดา (The Street Ratchasima) และโซน Never Sleep Mitr สามย่านมิตรทาวน์ โดยมีแบรนด์มากมายที่เข้าร่วมเพื่อรองรับทุกกิจกรรมของผู้บริโภค และเอาใจคนเมืองที่ชอบการแฮงเอาท์ในเวลากลางคืน
.
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจ 24 ชั่วโมง จะเริ่มเติบโตทั้งในแง่ความหลากหลายของแบรนด์และประเภทธุรกิจ แต่การดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้จำต้องแลกมากับต้นทุนและการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น จึงควรศึกษา บริหารจัดการและวางแผนระบบงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาคุณภาพของการบริการที่ซื้อใจลูกค้าได้
.
.
อ้างอิง:
https://hr.tcdc.or.th/en/Articles/Detail/LOOK-ISAN-NOW-29
https://www.smeleader.com/%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0…/
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/24-hour-business
https://thematter.co/…/sleepless-society-and-24…/83392
https://www.marketingoops.com/…/24-hours-lifestyle-24…/
https://www.brandbuffet.in.th/…/sleepless-society…/