ต้อนรับวันแห่งความรัก .. ชวนมาเบิ่ง ยอดจดทะเบียน “สมรสเท่าเทียม” ในภาคอีสาน

ตั้งแต่ 23 ม.ค. 2568 วันประวัติศาสตร์ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับวันแรก เป็นการมอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย

 

โดยตั้งแต่มีผลบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมวันแรกจนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 “ยอดจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” ในภาคอีสานมีจำนวนทั้งหมด 757 คู่ด้วยกัน ความรักไม่เลือกเพศเป็นความรักที่บริสุทธิ์และจริงใจ เป็นความรักที่ควรได้รับการเคารพและยอมรับเหมือนกับความรักในรูปแบบอื่นๆ ทุกคนควรมีสิทธิที่จะรักและแต่งงานกับคนที่ตนเองรัก โดยไม่คำนึงถึงเพศนั่นเอง

 

 

ในมุมมองของเศรษฐกิจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้ มีต้นทุนและศักยภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ มีการประมาณการว่าประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม LGBTQIAN+ จำนวนกว่า 4 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 6%) โดย SDG Port ประมาณการใกล้เคียงกับ LGBT Capital ที่ประมาณว่ามีคนกลุ่มดังกล่าวประมาณ 3.7 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 5.6%) โดยประชากรของ LGBTQIAN+ ทั่วโลกอาจมีถึง 800 ล้านคน ซึ่งหากมองในเชิงธุรกิจถือว่าเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง

 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ว่ามีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปร้อยละ 15 ของการใช้จ่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดี

 

โดย Spartacus ซึ่งจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวที่เป็น LGBTQIAN+ พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 54 จาก 213 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งไทยเองทำคะแนนได้ดีใน Anti-Discrimination Legislation (กฎหมายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ) และ LGBT Marketing (การทำการตลาดกับกลุ่ม LGBTQIAN+) แต่เมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามอง จากการที่จะผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยขึ้นมามีอันดับเทียบเท่าไต้หวัน (อันดับที่ 13) ในปี 2568 ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ดีขึ้น

 

ในเทศกาล Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท

 

 

อุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตซีรีส์วายมากกว่า 177 เรื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการเห็นจำนวนซีรีส์วายที่เพิ่มขึ้นในทุกปี ยังคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 2567 และกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์วาย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2566 เป็น 2,000 ล้านบาท ในปี 2567 จากความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยัง กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันสินค้าบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2569

 

อุตสาหกรรมแดร็ก (Drag)

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมบันเทิงในด้านซีรีส์วายแล้ว อุตสาหกรรม Drag เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมบันเทิงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติมโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากค่อนข้างใหม่และยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น กระแสความนิยม การได้รับการสนับสนุน บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรม Drag นี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

อุตสาหกรรมสุขภาพเพศหลากหลาย

เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในไทย โดยในแต่ละปีมีคนเดินทางเพื่อเข้ามารับการผ่าตัดแปลงเพศ ผ่าตัดเสริมความงาม และบริการทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ ในไทย เฉลี่ยปีละกว่า 1.2 ล้านคน ไทยไม่ได้มีแค่การผ่าตัดแปลงเพศ แต่ยังมีเรื่องการรักษาสุขภาพจิต เทคโนโลยีด้านการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการบริการด้านฮอร์โมน ที่สาธารณะสุขไทย พยายามให้มีการเข้าถึงได้มากขึ้น ผ่านการกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเทคฮอร์โมนได้มากขึ้น รวมไปถึงยังมองเห็นโอกาส เนื่องจากฮอร์โมนส่วนใหญ่ที่ใช้ในไทยมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ หากผลิตเองและส่งออกได้ หวังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน

 

 

อ้างอิงจาก:

– สำนักบริหารการทะเบียน

– Thai PBS

 

ติดตาม ISAN Insight ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsight #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #สมรสเท่าเทียม #จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม #รักต่างเพศ #LGBTQIAN+



Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top