ชื่อบริษัท: บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
ปีที่ก่อตั้ง (โรงงานผลิตในไทย):
- โรงงานเทพารักษ์ พ.ศ. 2531
- โรงงานโคราช พ.ศ. 2539
- โรงงานโคราช 2 พ.ศ. 2558
ทุนจดทะเบียน: 30,829 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจ: การผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วง (26209)
ส่วนแบ่งการตลาดในประเทศ: 36.36%*
สำนักงานใหญ่: ฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
HDD ของ Seagate มีรุ่นอะไรบ้าง:
- IronWolf / Pro
- Exos
- SkyHawk
- BarraCuda
- Portable Hard Drive
ปี | รายได้รวม (ล้านบาท) | การเปลี่ยนแปลง |
2565 | 180,663 | 8.34 |
2566 | 146,451 | -24.79 |
2567 | 125,073 | -14.59 |
ปี | กำไรสุทธิ (ล้านบาท) | การเปลี่ยนแปลง |
2565 | 5,318 | 7.56 |
2566 | 4,345 | -18.3 |
2567 | 3,712 | -14.57 |
ขนาดโรงงานการผลิตของ Seagate ทั่วโลก
ประเทศ | พื้นที่โดยประมาณ (ตร.ม.)** |
โคราช | 251,000 |
สิงคโปร์ | 140,000 |
มินนิโซตา | 101,000 |
จีน (อู๋ซี) | 65,000 |
มาเลเซีย (ยะโฮร์) | 58,000 |
ไอร์แลนด์เหนือ | 44,000 |
เทพารักษ์ | 42,000 |
หมายเหตุ:
- เป็นการเปรียบเทียบรายได้รวมของบริษัทกับธุรกิจทุกขนาดที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งประเทศ
- พื้นที่ของโรงงานเป็นการแปลงหน่อยจาก ตร.ฟุต เป็น ตร.ม. ทำให้อาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย
ฮู้บ่ว่า?
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อันดับสองของโลก เป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,151 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 11,537 ล้านดอลลาร์ สรอ. (-29.35%)
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีน และประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) รายใหญ่ของโลก แต่ว่าการส่งออกนั้นไม่ใช่ในนามของแบรนด์สินค้าภายในประเทศตนเอง กล่าวคือประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มาตั้งโรงงานการผลิตภายในประเทศ ดังนั้นหากเรามองดูการครองส่วนแบ่งการตลาดของแบรนด์ผู้ขาย HDD ทั่วโลกนั้นจะพบว่าแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกมากที่สุดอันดับ 3 อันดับแรก คือ Western Digital (WD) ครองส่วนแบ่งการตลาด 40% รองลงมาคือ Seagate ครองส่วนแบ่งการตลาด 38% และ Toshiba ครองส่วนแบ่งการตลาด 22% ในอดีตนั้นทั้ง 3 บริษัทเคยตั้งโรงงานผลิตอยู่ในไทย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้ทาง Toshiba ขายโรงงานผลิตในไทยให้แก่ WD และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศฟิลลิปปินส์แทน ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานการผลิตของบริษัทเจ้าใหญ่อยู่ 2 บริษัทได้แก่ Western Digital และ Seagate
Seagate (ซีเกท) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายอุปกรณ์หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ หรือฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive: HDD) รายใหญ่ของโลก สัญชาติอเมริกา ได้มีการเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2526 และเริ่มมีการมาตั้งโรงงานการผลิต HDD ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิต HDD สองแห่งในประเทศไทยของ Seagate โดยแห่งแรกอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ คือโรงงานซีเกท เทพารักษ์ เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2531 กับพนักงานประมาณ 4,300 คน และในปี 2539 ทางซีเกทได้มองเห็นโอกาสและความสำคัญของประเทศไทยจึงได้มีการตั้งโรงงานเพิ่มในจังหวัดนครราชสีมา คือโรงงานซีเกท โคราช ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงงานผลิต HDD ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีพนักงานประมาณ 12,100 คน และในปี 2558 ทางซีเกทได้มีการสร้างอาคารในจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มอีก 1 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ 1.53 หมื่นล้านบาท (470.7 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ตอกย้ำถึงความสำคัญของโรงงานผลิต HDD ในจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันโรงงานซีเกท โคราชตั้งอยู่บนเนิ้อที่ประมาณ 250,000 ตร.ม. มีพนักงานประมาณ 18,000 – 20,000 คน โดยปัจจัยที่ทำให้ซีเกท ลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งนับเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท (2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) เป็นเพราะทักษะความเชี่ยวชาญของแรงงานไทย โครงสร้างทางต้นทุนที่เหมาะสม และปัจจัยความสะดวกในด้านการขนส่งของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
เมื่อดูงบการเงินของ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จะพบว่าในปี 2566 และ 2567 มูลค่าของรายได้รวม และกำไรสุทธิมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องสองปีติดต่อกัน โดยรายได้รวมจาก 180,663 ในปี 2565 ลดลงเหลือ 146,451 (-18.93%) ในปี 2566 และลดลงเหลือ 125,073 (-14.59%) ในปี 2567 หากมองในภาพรวมของผู้ผลิต HDD ในประเทศไทยจะพบว่าไม่ใช่เพียงแค่ Seagate เท่านั้นที่ประสพกับปัญหารายได้ที่ลดลง แต่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง WD ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทยเหมือนกันก็ประสพกับปัญหานี้เช่นเดียวกันกับ Seagate
เมื่อมองในภาพรวมสถานการณ์การส่งออกของทั้งประเทศจะพบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk Drive (HDD): HS84717020) อันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.15 ล้านดอลลาร์ สรอ. ถือเป็นมูลค่าการส่งออกต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี หากมองย้อนกลับไปดูแนวโน้มมูลค่าการส่งออก HDD ในไปก่อนหน้าจะพบว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ การที่ปี 2566 มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือเพียง 8.15 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากเดิมในปี 2565 ที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11.5 ล้านดอลลาร์ สหฐ เมื่อพิจารณาการส่งออก HDD ของไทยโดยดูจากประเทศปลายทางและมูลค่าการส่งออกจะพบว่า ไทยมีการส่งออก HDD ไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดตลาดหลายปีที่ผ่านมา ตามมากด้วยฮ่องกง และจีน โดยในช่วง 5 ปีย้อนหลังมูลค่าการส่งออก HDD ไปยังสหรัฐฯ นั้นมีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2566 ที่มูลค่าการส่งออกลดลงอย่างมหาศาล คาดว่ามาจากปัจจัยในด้านของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Solid State Drive (SSD) ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้เทคโนโลยี SSD ที่มีมานานหลายปีแล้ว แต่ด้วยราคาต่อประสิทธิภาพนั้นทำให้ผู้บริโภคมองว่ายังคงสูงเกินไป เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ราคานั้นมีการปรับตัวลงขณะที่ความจุดนั้นได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลขึ้น และกำลังการผลิตที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งส่งผลให้ต้นทุนต่อขนาดนั้นมีการปรับตัวลง ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
แต่ทว่า หากจะบอกว่าเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นส่งผลให้ตลาด HDD ในอนาคตมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก็คงจะไม่ถูกซะทีเดียว เนื่องจากการเข้ามาของ SSD นั้นไม่สามารถแทนที่ HDD ได้ 100% อีกทั้งจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไปจึงทำให้ HDD นั้นยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) มีการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการเก็บข้อมูลต่างๆของผู้ใช้ที่นำมากฝากจะอยู่บนคลาวด์ก็จริง แต่ในความจริงแล้วนั้นคือการนำเข้อมูลไปฝากไว้กับเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ โดยเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในปริมาณที่มหาศาล หากจะใช้ SSD นั้นจะยิ่งทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งยังมีความกังวลในเรื่องของความคงทนที่หลายฝ่ายยังมองว่า SSD ไม่ทนเท่า HDD และไม่ค่อยมีการแสดงอาการก่อนเสีย อีกทั้งประเด็นในเรื่องของความจุดก็ยังคงเป็นปัญหาของ SSD ที่ไม่สามารถทำความจุสูงๆ ได้เท่า HDD แต่ถึงแม้จะสามารถทได้ราคานั้นก็จะสูงมากและไม่คุ้มค่าอยู่ดี ดังนั้น HDD จึงยังคงเป็นตัวเลือกหลักสำหรับผู้ให้บริการ ประกอบกับแม้ว่า HDD จะเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการพัฒนาเลย HDD นั้นมีการพัฒนาอยู่ตลาด หากเราไปซื้อ HDD ตามร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะพบว่า HDD มีตัวเลือกหลายแบบ รอบรับการใช้งานที่ครอบคลุมตั้งแต่การใช้งานทั่วไปภายในครัวเรือน ไปจนถึงการใช้ในระดับเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องเปิดอยู่ตลอดเวลาไม่มีการปิดระบบเลย
อีกทัง ในปัจจุบันหลายองค์กรหันมาให้ความสนใจในการทำ Data Center หรือ Server ภายในองค์กร แต่ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับองค์การใหญ่ๆ เท่านั้น บุคคลทั่วไปมีการทำที่เก็บข้อมูลบนเครื่อข่ายของตนเอง หรือ NAS (Network Attached Storage) สำหรับคนที่ต้องการที่เก็บข้อมูลในปริมาณที่เยอะ แต่ไม่อยากเอาข้อมูลไปฝากไว้กับผู้ให้บริการจึงเลือกทำระบบเองภายในบ้าน จากที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็น Data Center, Server หรือ NAS ก็ตาม ทุกอย่างเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ HDD ในการเก็บข้อมูลเป็นหลัก และคาดว่าความต้องการจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต อีกทั้ง ในกรณีของประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออก HDD รายใหญ่ของโลกทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) ยังได้มีการอนุมัติในการลงทุนเพิ่มสำหรับการขยายฐานการผลิต HDD ในประเทศไทย และการลงทุนใน Data Center ภายในประเทศ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า HDD ไม่ได้ถูกลดความสำคัญหรือจะมีการสูญหายไปภายในเร็ววันนี้ เพราะยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อหลายองค์กร บริษัท และคนธรรมดาที่ใช้งานทั่วโลกอยู่
อ้างอิงจาก
- Trademap
- กรมศุลกากร
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
- เว็บไซต์ของบริษัท