แผนที่ประเทศ | กรุงเทพฯ | ภาคกลาง | ภาคตะวันออก | ภาคอีสาน | ภาคเหนือ | ภาคตะวันตก | ภาคใต้ |
รถยนต์ส่วนบุคคล | 289,196 | 14,329 | 36,687 | 57,840 | 50,315 | 16,831 | 43,893 |
% การเปลี่ยนแปลงเที่ยบกับปี 2566 | -19.0% | -28.6% | -31.6% | -24.8% | -22.6% | -21.1% | -25.9% |
รถจักรยานยนต์ | 464,876 | 83,447 | 235,087 | 434,642 | 258,919 | 124,723 | 298,117 |
% การเปลี่ยนแปลงเที่ยบกับปี 2566 | -8.1% | -9.2% | -12.0% | -8.6% | -6.4% | -16.4% | -0.3% |
จังหวัดอีสาน | รถยนต์ส่วนบุคคล | % การเปลี่ยนแปลงเที่ยบกับปี 2566 | รถจักรยานยนต์ | % การเปลี่ยนแปลงเที่ยบกับปี 2566 |
ชัยภูมิ | 1,928 | -24.5% | 14,908 | -5.6% |
ยโสธร | 1,013 | -24.5% | 9,056 | -9.1% |
อุบลราชธานี | 5,964 | -24.4% | 31,129 | -6.8% |
ศรีสะเกษ | 1,625 | -28.4% | 16,565 | -8.7% |
บุรีรัมย์ | 2,254 | -32.4% | 30,565 | -22.5% |
นครราชสีมา | 11,849 | -20.7% | 43,436 | -10.4% |
สุรินทร์ | 1,719 | -26.1% | 27,576 | -3.3% |
อำนาจเจริญ | 735 | -8.6% | 5,495 | -5.4% |
หนองบัวลำภู | 1,075 | -23.9% | 9,630 | -16.7% |
บึงกาฬ | 733 | -20.8% | 8,905 | -12.2% |
หนองคาย | 1,066 | -33.7% | 11,845 | -7.3% |
เลย | 1,489 | -28.9% | 16,250 | 16.4% |
อุดรธานี | 6,214 | -26.8% | 41,532 | -14.2% |
นครพนม | 1,327 | -18.4% | 9,276 | -4.8% |
สกลนคร | 1,977 | -27.9% | 34,869 | -4.5% |
ขอนแก่น | 9,644 | -27.2% | 44,658 | -8.9% |
กาฬสินธุ์ | 1,674 | -22.7% | 17,481 | -8.5% |
มหาสารคาม | 1,931 | -25.5% | 28,530 | -4.9% |
ร้อยเอ็ด | 2,493 | -22.6% | 23,381 | -5.6% |
มุกดาหาร | 1,130 | -16.9% | 9,555 | -4.4% |
ประเภทของรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่มากที่สุด
- ICE (น้ำมัน) 42,784 ลดลง -34.4%
- Hybrid (ไฮบริด) 10,020 เพิ่มขึ้น 62.6%
- BEV (ไฟฟ้า) 5,030 ลดลง -9.5%
แบรนด์รถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่ในอีสานสูงที่สุด 5 อันดับแรก
- TOYOTA 17,992 คัน
- ISUZU 6,473 คัน
- HONDA 4,802 คัน
- FORD 2,149 คัน
- BYD 2,061 คัน
ยอดรถจดทะเบียนใหม่ในภาคอีสานยังคงชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นปี 2567 ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถกระบะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเล็กน้อย เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ La Niña ที่ช่วยส่งเสริมภาคการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีและอ้อย ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนมากขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์และรถกระบะ อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังคงไม่ฟื้นตัว สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังจำกัด
ปัญหาการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ เป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเสียเฉพาะต่อผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รายงานสถานการณ์ของภาคการผลิตเป็นระยะ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการปรับลดเป้าหมายกำลังการผลิตเหลือเพียง 1.5 ล้านคันภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่ากำลังการผลิตที่ตั้งเป้าไว้แม้จะมีการปรับลดลงมาแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ถึงยอดได้ ผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ในปี 2568 กำลังการผลิตยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนำมาสู่การใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดอีกครั้ง ไทยเคยได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งแรกของทรัมป์ และการกลับมาครั้งนี้คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมากกว่าที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาภาพรวมการจดทะเบียนรถใหม่ทั่วประเทศ พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2567 การจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลใหม่ทั่วประเทศลดลงจาก 653,528 คันในปี 2566 เหลือเพียง 509,091 คัน คิดเป็นการลดลง -22.1% สำหรับรถจักรยานยนต์ การจดทะเบียนใหม่ก็ลดลงจาก 2,065,021 คันในปี 2566 เหลือ 1,899,811 คันในปี 2567 ลดลง -8.0% แม้ว่าภาคอีสานจะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการลดลงสูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่การจดทะเบียนรถใหม่ในภาคนี้ยังคงลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ สะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทนของประชาชน
เมื่อพิจารณาปัจจัยลบภาพรวมภายในประเทศ จะพบว่าไม่ใช่เพียงภาคอีสานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากยอดจดทะเบียนรถใหม่ที่ลดลง แต่ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ นอกจากกำลังซื้อที่อ่อนแอจากค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังระบุถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการชะลอการซื้อรถยนต์คันใหม่และหันมาใช้รถยนต์คันเดิมให้นานขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการซ่อมบำรุงมากขึ้น อีกทั้ง ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลือกใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระหนี้สินจากการซื้อรถ การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้เกิดหนี้โดยไม่จำเป็น และความพยายามลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว นอกจากนี้ การชะลอการซื้อรถยังเกิดจากการรอดูสถานการณ์ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคบางส่วนจึงเลือกที่จะรอดูทิศทางของตลาดก่อนตัดสินใจซื้อรถใหม่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันยอดขายรถยนต์ในปัจจุบัน
หนึ่งในเทรนด์ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากทั้งกระแสการรักสิ่งแวดล้อมและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาทางเลือกที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว รถยนต์ไฟฟ้าจึงกลายเป็นคำตอบสำหรับหลายคน โดยสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยจะเปิดใจให้กับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ยังมีข้อกังวลหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาในการชาร์จไฟ ระยะทางวิ่งสูงสุดต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ความปลอดภัยของแบตเตอรี่ ตลอดจนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าและบริการหลังการขายที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นข้อสังเกตุที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงชะลอสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อหันมาดูการเลือกใช้รถยนต์ของผู้บริโภคในภาคอีสาน จะพบว่าพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ไม่ได้สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วไปที่ชี้ว่าการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ยอดการซื้อทั้งรถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้ากลับลดลง แต่รถยนต์ไฮบริดกลับมีสัดส่วนการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฮบริดในภาคอีสาน อาจมาจากความกังวลที่ยังคงมีต่อรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่รถยนต์ไฮบริดสามารถตอบโจทย์ได้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงน้ำมันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบรถยนต์ไฟฟ้า จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคในภาคอีสานให้ความไว้วางใจมากกว่าในปัจจุบัน
ที่มา กรมการขนส่งทางบก, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา