หากเปิดทางต่างชาติซื้อบ้านและคอนโดได้มากขึ้น จะช่วยพยุงตลาดอสังหาฯ ในอีสานได้ขนาดไหน ?

จากแนวนโยบายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของชาวต่างชาติ รัฐบาลได้เล็งพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ให้ต่างชาติสามารถเข้าถือครองอสังหาฯ ในไทยได้มากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการผ่อนปรน ซึ่งเดิมทีมีแค่ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมเท่านั้น เพื่อจูงใจให้เกิดการพำนักอาศัยระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเกษียณอายุที่มีกำลังใช้จ่ายเงินสูง ผู้ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งนักลงทุน
.
เมื่อดูข้อมูลสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติปี 2561 ถึง 2562 ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ (REIC) จัดทำขึ้น จะพบว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาด แต่ในปี 2563 หลังเจอวิกฤต COVID-19 มีชาวต่างชาติโอนห้องชุด 8,285 ยูนิต ลดลงจากปี 2562 ถึง 35.3% เหลือเพียง 6.8% ของตลาด
.
โดยปี 2563 จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติมากที่สุด 10 ลำดับแรก คิดเป็นสัดส่วนจำนวนยูนิตรวมกันมากถึง 99.7% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนรวมกันมากถึง 99.8 % ประกอบด้วย
.
อันดับ 1 กรุงเทพฯ มีสัดส่วนจำนวนยูนิต 57.1% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอน 73.5% ซึ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชาวต่างชาติทั่วประเทศ
.
อันดับ 2 จังหวัดชลบุรี มีสัดส่วนจำนวนยูนิต 24.9% และสัดส่วนมูลค่า 14.2%
.
อันดับ 3 จังหวัดภูเก็ต มีสัดส่วนจำนวนยูนิต 4.7% และสัดส่วนมูลค่า 4.6%
.
ส่วนอันดับ 4 – 10 ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ปทุมธานี ระยอง นนทบุรี และเชียงราย ตามลำดับ
.
ขณะที่จังหวัดในภาคอีสานรวมกันทุกจังหวัดกลับมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติจำนวนยูนิตไม่ถึง 0.3% และสัดส่วนมูลค่ารวมไม่ถึง 0.2% ด้วยซ้ำ
.
สำหรับปี 2564 ในช่วง 6 เดือนแรก มีชาวต่างชาติโอนห้องชุดรวม 4,358 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,449 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของผู้ซื้อชาวจีนกว่า 63% (2,748 ยูนิต) รองลงมาคือ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐฯ ตามลำดับ แต่ถึงอย่างนั้น หากเปรียบเทียบกับอสังหาฯ ประเภทอื่น ห้องชุดก็ยังมีสัดส่วนค้างสต็อกสูงสุดที่ 86,000 ยูนิต
.
จากภาพรวมทั้งประเทศดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจว่า ภาคอีสานก็ยังไม่ใช่ทำเลที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกที่จะถือครองกรรมสิทธิ์ในที่พักอาศัยตอนนี้อยู่ดี อาจด้วยไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว การเดินทางไป-กลับ หรือการมองถึงผลจากการลงทุน ที่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
.
ดังนั้น อาจยังไม่ต้องไปพูดถึงการที่รัฐจะปรับเพิ่มอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในการถือครองอสังหาฯ แนวดิ่งของชาวต่างชาติเป็น 70 หรือ 80% เพราะหากว่ากันตามจริง ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ไม่เกิน 49% ก็ยังไม่ถึง ส่วนอสังหาฯ แนวราบ แม้ยังไม่มีข้อกฎหมายออกมารองรับ ก็คาดว่าไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม จากกระแสทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนมีความตื่นตัวออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลกันมากขึ้น เพราะอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนถึงการรักษาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศรวมถึงตัวเราเองด้วย
.
.
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.prachachat.net/property/news-763114
https://thinkofliving.com/ข่าว/สัดส่วนชาวต่างชาติที่มาซื้ออสังหาในไทย-ครึ่งปีแรก-2564-743996/
https://thinkofliving.com/v
https://thinkofliving.com/ข่าว/การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ-ต่ำสุดใน-q-2-2563-จาก-covid-19-เป็นเหตุ-710777/
https://www.reviewyourliving.com/…/tranfer-condo…/
https://www.thansettakij.com/blogs/property/494425

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top