“น้องอึ่ง” สัตว์เศรษฐกิจต่อยอดธุรกิจอาหารกระป๋อง

“ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำ ๆ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา” เมื่อได้ยินเพลงนี้หลายคนคงจะนึกถึงบรรยากาศของท้องทุ่งชนบทที่ชโลมไปด้วยฝน ซึ่งนอกจากเสียงของความชุ่มฉ่ำในท้องนาแล้ว จะไม่พูดถึงเสียงสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่าง “อึ่งอ่าง” หนึ่งในสัญญาณเตือนการมาถึงของฤดูฝนก็คงไม่ได้
.
เราชาว ISAN Insight & Outlook จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “น้องอึ่ง” สัตว์ที่เป็นเมนคอร์สในเมนู “ต้มอึ่งใส่ใบมะขามอ่อน” ที่พี่น้องอีสานหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ห้ามพลาด”
.
ที่พูดเช่นนี้ เพราะปกติแล้วต้มอึ่งจะหากินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น คือ ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่อึ่งอ่างจะออกมาเล่นน้ำ หาอาหาร และผสมพันธุ์กัน โดยพวกมันจะใช้การส่งเสียงร้องเรียกหาคู่ในขณะที่ฝนตก และหลังจากที่หมดช่วงนี้ไปอึ่งอ่างก็จะกลับไปจำศีลอยู่ใต้พื้นดิน จะออกมาให้เห็นใหม่อีกครั้งก็ช่วงฤดูฝนของปีถัดไป
.
อาจกล่าวได้ว่า ช่วงที่อึ่งอ่างออกมาเล่นน้ำหาอาหารถือเป็นโอกาสทองให้ใครหลาย ๆ คนออกไปจับพวกมัน เพราะนอกจากจะนำมาประกอบอาหารภายในครัวเรือนแล้ว หากเหลือก็ยังสามารถนำไปขายตามตลาดท้องถิ่นได้อีกด้วย โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง (ภาคที่คนอีสานอพยพเข้าไปทำงานมากที่สุด)
.
ส่วนราคาของอึ่งในช่วงฝนแรกจะขึ้นอยู่กับชนิดของอึ่ง เช่น อึ่งข้างลายจะอยู่ที่ 200 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถ้าขายคละกับตัวมีไข่จะอยู่ที่ 250 บาท/กิโลกรัม หรือถ้าเฉพาะตัวที่มีไข่ก็ยิ่งมีราคาแพงขึ้น เฉลี่ยประมาณ 300 – 400 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงเทียบเท่ากับการซื้อเนื้อหมู เนื้อไก่ 2 – 3 กิโลเลย
.
น่าสังเกตว่า แม้จะมีราคาสูงตามความหายาก แต่ผู้บริโภคจำนวนมากก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้รับประทาน ส่งผลให้จำนวนอึ่งอ่างที่นำมาจำหน่ายในท้องตลาดยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ค้ารายใดที่สามารถนำอึ่งอ่างมาจำหน่ายช่วงนี้ได้ ก็มีโอกาสขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเช่นกัน
.
.
สำรวจผู้เพาะเลี้ยงอึ่งอ่างในตลาด
.
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า อึ่งอ่างตามธรรมชาติจะสามารถจับได้ในช่วงฤดูฝนที่มีปีละครั้งเท่านั้น นอกเหนือจากนี้คนก็ยังมีความต้องการสูงในช่วงนอกฤดู เพราะอึ่งสามารถนำมาทำเป็นเมนูอาหารที่หลากหลายไม่เฉพาะต้มอึ่งใบมะขามอ่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำอึ่ง ปิ้งย่างอึ่ง และต้มโคล้งอึ่ง จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มองเห็นโอกาสสร้างรายได้หันมา “เพาะเลี้ยงลูกอึ่งอ่างขาย” กันมากขึ้น
.
ยกตัวอย่างผู้จำหน่ายอนุบาลอึ่งอ่างรายหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่สามารถสร้างรายได้จากการขายลูกอึ่งอ่างได้ถึง 32,000 บาท/สัปดาห์ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาจากจังหวัดหนองคาย ร้อยเอ็ด ชลบุรี และเพชรบูรณ์ จะรับซื้อแล้วนำไปเลี้ยงต่อจนโต ก่อนจะจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดอีกที แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดอยู่ ยิ่งช่วงหลังที่เริ่มมีการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอาหารที่หลากหลายขึ้นด้วย
.
ตัวอย่างนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ที่เบื้องต้นจะรับซื้ออึ่งอ่างจากชาวบ้านในพื้นที่ แล้วนำไปแปรรูปเป็นต้มอึ่งบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน โดยเลือกใช้อึ่งเพ้าหรืออึ่งปากขวด เพราะพวกมันมีจุดเด่นที่ไข่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค
.
ส่วนกรรมวิธีการแปรรูปก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน กล่าวคือ เมื่อทำความสะอาดอึ่งและเอาไส้ออกจนหมดแล้ว ก็จะนำไปลวกพอสุก บรรจุใส่กระป๋องพร้อมราดน้ำซุปที่เตรียมไว้ลงไป ก่อนจะนำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไปไล่อากาศออกและปิดฝาพร้อมฆ่าเชื้อ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้นานไปอีก 1 ปี
.
แน่นอนว่าได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม จนการผลิตไม่ทันต่อความต้องการเช่นกัน ยิ่งแต่เดิมทีสามารถผลิตได้ประมาณวันละ 120-150 กระป๋อง เมื่อเจอสถานการณ์ COVID-19 ที่มีผลต่อการเข้าเรียนของนักศึกษา ก็ทำให้กำลังการผลิตเหลือเพียงวันละ 80 กระป๋องเท่านั้น การจำหน่ายจึงหมดได้ในระยะเวลาอันสั้น
.
มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเห็นแล้วว่า “อึ่งอ่าง” สัตว์เศรษฐกิจที่ชาวอีสานนิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อรับประทาน สามารถสร้างรายได้ทั้งทางตรงอย่างการเพาะเลี้ยง หรือจะต่อยอดธุรกิจไปในด้านอื่น ๆ อย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องบอกว่า “เป็นตลาดที่น่าจับตามอง” อย่างมาก และอนาคตเราจะเห็นน้องอึ่งไปอยู่ในธุรกิจไหนอีก คงต้องติดตามกัน …
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
อ้างอิงจาก :
https://food.trueid.net/detail/5NZbl7PoEveN
https://www.google.com/url?q=https://bit.ly/3D5wYXD&sa=D&source=editors&ust=1630049282877000&usg=AOvVaw0tZMk84DNEdmucqdDil-8m
https://www.thairath.co.th/news/local/north/2065567
https://www.technologychaoban.com/marketing/article_185114
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2053657
https://www.youtube.com/watch?v=_zPPtVX4oB4

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top