เมื่อพูดถึงการเดินทางไปยังต่างจังหวัด เรามีตัวเลือกที่หลากหลายให้เลือกใช้ แต่หากพูดถึงการเดินทางด้วยรถทัวร์ เชื่อว่าหนึ่งในชื่อที่หลายคนจะนึกถึงและพูดถึงในวงสนทนาอย่างแน่นอนก็คือ “นครชัยแอร์” บริษัทที่เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน
นครชัยแอร์เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยคุณจักรินทร์ วงศ์เบญจรัตน์ ทายาทของนายซง วงศ์เบญจรัตน์ ผู้ก่อตั้ง “นครชัยขนส่ง” โดยเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ด้วยเส้นทางเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-ขอนแก่น และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี โดยใช้รถโดยสารเพียง 20 คันในระยะแรก เพียงหนึ่งปีต่อมา บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเป็นเจ้าแรกที่ใช้คำว่า “รถนอนพิเศษ” พร้อมลดจำนวนที่นั่งในรถจาก 42 เหลือเพียง 32 ที่นั่ง โดยเน้นความกว้างขวางและสามารถปรับเอนนอนได้ แม้จะส่งผลให้ต้นทุนต่อรอบสูงขึ้น แต่กลยุทธ์นี้ช่วยดึงดูดลูกค้าที่มองหาความสะดวกสบายในการเดินทางระยะไกล แม้ค่าบริการจะสูงกว่าคู่แข่งก็ตาม ในปี พ.ศ. 2535 นครชัยแอร์ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจองตั๋วและสำรองที่นั่ง ซึ่งช่วยลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ (Human Error) และเพิ่มความสะดวกให้ทั้งผู้โดยสารและพนักงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 บริษัทได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการขนส่ง ด้วยการเปิดตัวบริการ “NCA First Class” ที่มีที่นั่งเพียง 21 ที่เท่านั้น มอบประสบการณ์การเดินทางที่เป็นส่วนตัวและสะดวกสบายอย่างเหนือชั้น บริการนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี แม้ราคาจะสูงกว่าตั๋วโดยสารทั่วไปประมาณ 100-200 บาท เนื่องจากผู้โดยสารยอมจ่ายเพื่อความสบายและคุณภาพที่ดีขึ้น ในปัจจุบัน นครชัยแอร์ยังคงพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยนำรถลำตัวยาว 15 เมตร (safety coach) มาใช้ในบริการ First Class เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวก นอกจากนี้ ทุกที่นั่งของนครชัยแอร์ยังติดตั้งหน้าจอความบันเทิงส่วนตัว ซึ่งเป็นจุดเด่นที่หลายบริษัทคู่แข่งยังไม่มี เนื่องจากต้นทุนที่สูง ทั้งในด้านการติดตั้ง ค่าลิขสิทธิ์เนื้อหา และค่าบำรุงรักษาระยะยาว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้โดยสาร
นครชัยแอร์แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตและการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
โดยในปี พ.ศ. 2556 บริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังอาคารที่ 109 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจการ และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่อีกครั้งไปยัง 21/88 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ เพื่อสอดรับกับการเติบโตและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นครชัยแอร์ยังแสดงถึงความสามารถในการปรับตัวตามสถานการณ์ โดยปรับปรุงภายในรถโดยสารให้รองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความใกล้ชิดระหว่างผู้โดยสาร และเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการอาหารจากการรับประทานบนรถ เป็นการจอดพักให้ผู้โดยสารลงไปรับประทานอาหารแทน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งมวลชน
ซึ่งพึ่งพาผู้โดยสารในการสร้างรายได้ แต่สถานการณ์โรคระบาดที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน ลดการเดินทาง และทำงานแบบ Work from Home ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชนลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ การปิดประเทศในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาด ยังส่งผลให้การเดินทางเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยวแทบหยุดชะงัก ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งหลายแห่งต้องเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน บางรายต้องปลดพนักงาน ขายทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งปิดกิจการลง
สำหรับนครชัยแอร์ ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการประกาศขายทรัพย์สินประเภทที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างพร้อมผู้เช่า รวมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 16 รายการ มูลค่ารวมกว่า 4,369.7 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารของนครชัยแอร์ โดยคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันไม่มีรายชื่อของครอบครัว “วงศ์เบญจรัตน์” ผู้ก่อตั้งบริษัทอีกต่อไป แต่กลับเป็นบุคคลจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในองค์กร ทั้งนี้ ยังต้องรอการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากบริษัทเพื่อชี้แจงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจนต่อสาธารณชน
ไม่เพียงแค่วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งมวลชนประเภทรถทัวร์ แต่ยังมีการแข่งขันจากสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airlines) ที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทาย หากผู้โดยสารสามารถวางแผนล่วงหน้าและจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า ราคาตั๋วในบางครั้งอาจเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับการเดินทางโดยรถทัวร์ ข้อได้เปรียบสำคัญของการเดินทางด้วยเครื่องบิน คือความรวดเร็ว เช่น การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่น โดยรถทัวร์จะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินใช้เวลาเพียง 45 นาที หรือเร็วกว่าถึง 12.5 เท่า แม้ว่าจะต้องรอที่สนามบินล่วงหน้า 60-90 นาที แต่ก็ยังคงประหยัดเวลาได้มากกว่ารถทัวร์ อย่างไรก็ตาม การเดินทางด้วยเครื่องบินมีข้อจำกัดในเรื่องสัมภาระ เช่น น้ำหนักและขนาดที่พกติดตัวขึ้นเครื่อง หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับสัมภาระโหลดใต้เครื่อง ซึ่งเป็นจุดที่การเดินทางด้วยรถทัวร์ได้เปรียบ เนื่องจากสามารถพกสัมภาระได้มากกว่า และไม่ค่อยมีข้อจำกัดในด้านน้ำหนักหรือจำนวนสัมภาระ
ข้อได้เปรียบอีกอย่างของรถทัวร์ คือความยืดหยุ่นในการส่งผู้โดยสาร
รถทัวร์มักมีจุดจอดหลายแห่งตามเส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถลงใกล้กับจุดหมายปลายทางได้สะดวกกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องต่อพาหนะเพิ่มเติมจากสนามบินไปยังจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ การจองตั๋วรถทัวร์นั้นไม่ว่าจะจองตอนไหน เวลาใดก็จะได้ราคาเดิมเสมอ ขณะที่การจองตั๋วเครื่องบินนั้น หากจองล่วงหน้าเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจะได้ราคาตั๋วที่ถูกกว่าการจองใกล้วันเดินทาง ทำให้หากต้องการเดินทางอย่างกระทันหันแต่สามารถใช้เวลาในการเดินทางได้ การเดินทางด้วยรถทัวร์จึงจะประหยัดเงินกว่าเครื่องบิน
อ้างอิงจาก
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
- เว็บไซต์นครชัยแอร์
- มติชน ออนไลน์