ชวนมาเบิ่ง “วัวแดนอีสาน” กว่า 5.6 ล้านตัว กระจายอยู่ไหนบ้าง
.
.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่เลี้ยงวัวมากที่สุดในประเทศ มีสัดส่วนกว่า 54.3% เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้เปรียบในหลายด้าน อย่างเช่น มีความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กากมันสำปะหลัง รำ ปลายข้าว ฟางข้าว และเปลือกข้าวโพด ที่นิยมนำมาผสมเป็นอาหารข้นเลี้ยงโคขุน เนื่องจากมีราคาถูก และให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าอาหารหยาบ (หญ้าสด) รวมไปถึงความได้เปรียบในเส้นทางคมนาคมการส่งออกวัวเนื้อมีชีวิตไป สปป. ลาว ซึ่งจะเป็นการส่งออกไปจีนผ่าน สปป.ลาว เป็นหลัก
.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนการเลี้ยงวัวมากกว่า 5,605,513 ตัว แบ่งเป็นวัวเนื้อกว่า 97.2% และวัวนมเพียง 2.8% เท่านั้น และมีจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงวัวอยู่ 977,716 คน ซึ่งแบ่งเป็น เกษตรกรที่เลี้ยงวัวเนื้ออยู่ 99.5% และเกษตรกรที่เลี้ยงวัวเนื้ออยู่เพียง 0.5%
.
จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มจังหวัดจะนิยมเลี้ยงวัวเนื้อมากกว่าเนื้อนม แล้วทำไมเกษตรกรถึงนิยมเลี้ยงวัวเนื้อ?
.
เนื่องจากโคเนื้อเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของไทย ทั้งในเชิงของการใช้งาน รวมถึงการเลี้ยงขุนเพื่อบริโภค และใช้เพื่อการจำหน่าย อีกทั้งยังมีการผลักดัน “โคเนื้อไทย” เป็นสินค้าอุตสาหกรรมระดับพรีเมี่ยม ด้วยการแปรรูปพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และยังมีโครงการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อให้สามารถผลิตเนื้อที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับเนื้อนำเข้าจาก
ต่างประเทศหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น อย่างเช่น เนื้อโคขุนโพนยางคำจากจังหวัดสกลนคร เนื้อโคราชวากิว
.
นอกจากนี้ เนื้อโคคุณภาพดีของภาคอีสานยังได้รับคัดเลือกให้เป็นเมนูอาหารขึ้นโต๊ะต้อนรับผู้นำระดับโลกในการประชุม “APEC 2022” ขณะเดียวกันมีการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ “โคดำลำตะคอง” จากนวัตกรรมการผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โคพื้นเมือง วากิว และแองกัส ถือเป็นตัวอย่างการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง รองรับความต้องการบริโภคในประเทศที่เปลี่ยนไปในทิศทางพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
.
.
5 อันดับจังหวัดที่เลี้ยงวัวมากที่สุดในประเทศ ก็จะเป็นจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดเหล่านี้ก็จะอยู่ในกลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” และ “ราชธานีเจริญศรีโสธร” หรืออีสานล่างนั่นเอง เพียง 2 จังหวัดถือว่ามีสัดส่วนการเลี้ยงวัวมาก 60% เลยทีเดียว
.
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มจังหวัดอีสานล่าง อย่าง “นครชัยบุรินทร์” และ “ราชธานีเจริญศรีโสธร” มีการเลี้ยงวัวมากที่สุด นั่นก็คือ อีสานตอนล่างมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมและทรัพยากรโดยรวมที่เอื้อต่อการเลี้ยงวัว ฟาร์มเลี้ยงวัวรายใหญ่ในภาคอีสานก็มักจะอยู่ในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนครชัยบุรินทร์ อย่าง “บริษัท เซ่งเฮงฟาร์ม จำกัด” จากจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีรายได้รวมในปี 2566 กว่า 248 ล้านบาท ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงวัวที่มีรายได้มากที่สุดในประเทศ และ “บริษัท สิทธิโชค 1962 จำกัด” จากจังหวัดนครราชสีมา มีรายได้กว่า 34 ล้านบาท และยังมีฟาร์มวัวโคราชวากิว ของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี และโรงเชือดมาตรฐานฮาลาล ที่จะสามารถยกระดับรายได้และสร้างอาชีพใหม่แก่เกษตรกร พร้อมดันโคราชเป็นฟู้ดวัลเลย์ ผลิตอาหารที่หลากหลายป้อนตลาดโลก
.
อีกทั้งกลุ่มนครชัยบุรินทร์ยังมีความได้เปรียบในเรื่องการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งเนื้อวัวจากนครราชสีมาไปยังภาคกลาง ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้ดี
.
ในขณะที่พื้นที่กลุ่มจังหวัด “สบายดี” และ “สนุก” หรืออีสานบน มีการเลี้ยงวัวไม่มากนัก จากปัจจัยของพื้นที่ที่อาจไม่อำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ทำให้ 2 จังหวัดเหล่านี้มีสัดส่วนการเลี้ยงวัวเพียง 17.7% เท่านั้น
.
.
อ้างอิงจาก:.
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
- กรมปศุสัตว์
- MGR Online
- ปศุศาสตร์ นิวส์
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ธุรกิจฟาร์มหมู #ฟาร์มหมู #เลี้ยงหมู #สุกร #เลี้ยงสุกร