ส.ขอนแก่น ธุรกิจที่มีชื่อ “ขอนแก่น” แต่ไม่ได้มาจาก “ขอนแก่น” จุดเริ่มต้นจากของฝาก สู่อาณาจักรพันล้าน

 

ส.ขอนแก่น แบรนด์ของกินแสนอร่อยไปที่ไหนก็เจอ หลายคนคงคิดว่าชื่อ ส.ขอนแก่น คงต้องเป็นแบรนด์ของคนขอนแก่น ที่เริ่มต้นจากขอนแก่นแน่ๆ แต่ที่จริงแล้วแบรนด์ ส.ขอนแก่น มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพ โดยคนกรุงเทพที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดขอนแก่นแต่อย่างใด นอกจากสินค้าที่นำมากขายนั้นมาจากจังหวัดขอนแก่นในช่วงก่อตั้ง

 

จุดเริ่มต้นของ ส.ขอนแก่น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2527 มาจาก คุณเจริญ รุจิราโสภณ จากการสังเกตุว่าคนกรุงเทพนิยมบริโภคอาหารประเภทหมูหย็อง หมูแผ่น และกุนเชียง ทำให้เมื่อคุณเจริญ เดินทางมายังจังหวัดขอนแก่นก็จะซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาขายที่กรุงเทพ หรือก็คือของฝากจากขอนแก่นนั่นเอง นี่จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ “ส.ขอนแก่น” หรือ “สินค้าจากขอนแก่น” เป็นชื่อแบรนด์ที่เข้าใจง่ายและสื่อสารได้เป็นอย่างดี จนใจปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี ส.ขอนแก่น มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆออกสู่ตลาดมากมาย โดยการผลิตนั้นใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต และมีการทำฟาร์มสุกรของตนเองเพื่อควบคุมราคา และคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล โดยที่เสน่ห์ของความอร่อยไม่ได้หายไปไหน

 

แม้ในปัจจุบันจะสามารถพูดได้ว่า ส.ขอนแก่น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับขอนแก่นอีกแล้วดังเช่นในช่วงเริ่มต้นที่ต้องซื้อสินค้าจากขอนแก่นไปขายในกรุงเทพ ด้วยการที่บริษัทจะต้องมีการเติบโตและควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำไม่ว่าจะเป็นการทำฟาร์มสุกรเลี้ยงหมูเอง การแปรรูปเนื้อสัตว์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และส่งขายไปยังที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งขายไปยังต่างประเทศมากมาย ทั้งยังมีโรงงานผลิตในต่างประเทศอีกด้วย ไม่ใช่แค่เพียง ส.ขอนแก่น เท่านั้น แต่บริษัทยังคงมีแบรนด์ย่อยอีกมากมาย ได้แก่

  1. ส.ขอนแก่น
  2. หมูดี
  3. บ้านไผ่
  4. หมูแชมป์
  5. ห้วยแก้ว
  6. แบรนด์กันเอง
  7. Entrée (อองเทร่)
  8. ยูนนาน
  9. แต้จิ๋ว
  10. มหาชัยฟู้ดส์
  11. ไทเป
  12.  ไทยเดิม
  13. เซี่ยงไฮ้ และ
  14. ไท่ เป่า หลง

สินค้าหลักของ ส.ขอนแก่น นั้นจะเป็นอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ถึง 53% และเป็นอาหารทะเลแปรรูป 33% โดย ส.ขอนแก่น จะเน้นไปทางอาหารพื้นเมืองไทยเป็นหลัก จากการที่สินค้าเข้าถึงง่าย หลากหลาย และรสชาติที่ถูกปาก หากมองในด้านของรายได้บริษัทจะพบว่า รายได้รวมของบริษัทมีการเพิ่มขึ้นในทุกปี แต่การเพิ่มขึ้นขางรายได้นั้นสิ่งหนึ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัวในธุรกิจคือต้นทุนที่ตามมา โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 สัดส่วนต้นทุนการขายของทางบริษัทมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งผลมาจากต้นทุนของเนื้อสัตว์ในปี พ.ศ. 2565 นั้นมีการปรับตัวสูงขึ้น ก่อนจะมีการปรับลดลงมาในปี พ.ศ. 2566 แต่การที่บริษัทมีการทำฟาร์มสุกรของตนเองนั้นทำให้ตัวธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่มีฟาร์มสุกรของตนเอง

 

ทั้งนี้ ส.ขอนแก่น ก็ยังคงเป็นแบรนด์ยังคงทำให้คนนึกถึงเวลามาเที่ยวขอนแก่นว่านักท่องเที่ยวควรจะซื้อของฝากอะไรจากขอนแก่น แม้ของฝากชิ้นนั้นจะไม่ใช่แบรนด์ของ ส.ขอนแก่น เองก็ตาม แต่ก็เป็นการช่วยให้ธุรกิจในพื้นที่มีรายได้ และสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า ส.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ช่วยนำเสนอสินค้าพื้นเมืองของขอนแก่นได้เป็นอย่างดี

 

ฮู้บ่ว่า?

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยให้ HR ติดต่อและทาบทาม คุณเจริญ รุจิราโสภณ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งได้ข้อเสนอที่ลงตัวจึงได้ร่วมงานด้วยกัน อีกทั้งในตอนที่ CP สนใจธุรกิจอาหาร คุณเจริญ รุจิราโสภณ ก็เป็นคนที่คิดโปรเจค “ไก่ย่างห้าดาว” ให้ทาง CP

 

อ้างอิงจาก

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • เว็บไซต์ของบริษัท
  • ลงทุนแมน
  • 56-1 One Report รายงานประจำปี 2566

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top