IPO พลิกชีวิต? สำรวจ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ภาคอีสานหลังเข้าตลาดหุ้น

ในวันนี้จะพามาดู 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ในภาคอีสานที่เข้าตลาดหุ้นว่านับตั้งแต่วันที่เข้าตลาดวันแรกจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทขนาดใหญ่เมื่อทำกิจการมาซักระยะหนึ่งก็จะมีความต้องการในการขยายกิจการไปยังพื้นที่ต่างๆ หรือการขยายสาขาเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ โดยแน่นอนอยู่แล้วว่าการขยายกิจการไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามสิ่งที่ตามมาด้วยเป็นเงาตามตัวนั่นคือ “เงิน” ที่จำเป็นต้องใช้ในการขยายกิจการ ซึ่งแหล่งที่มาของเงินทุนนั้นมีหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินของกิจการเดิมของตัวเองมาขยายกิจการใหม่เพิ่ม การเข้าไปขอกู้เงินกับทางธนาคาร และการเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน โดยในแต่ละวิธีนั้นไม่มีคำจำกัดความว่าบริษัทไหนต้องใช้รูปแบบไหนขึ้นอยู่กับความเห็นของตัวผู้บริหาร หรือบอร์ดบริหาร ณ ช่วงเวลานั้นว่ามองเห็นอะไรที่เป็นจุดที่น่าสนใจในแต่ละวิธี โดยการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นนั้นถือว่าเป็นการหาแหล่งระดมเงินทุนในระยะยาวก็สามารถพูดได้ว่าเป็นเช่นนั้น โดยข้อดีของการระดมทุนในตลาดหุ้นคือการปราศจากดอกเบี้ยและภาระการชำระคืนเงินต้น ซึ่งต่างจากการไปกู้ธนาคารที่จะมีดอกเบี้ยในอัตราที่สูง อีกทั้งส่วนหนึ่งยังเป็นสิ่งที่เพิ่มความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทด้วย แต่หากมิงดูดีๆแล้วจะพบว่าโกลบอลเฮ้าส์นั้นเป็นบริษัทเจ้าเดียวที่ไม่มีสาขาในกรุงเทพมหานครเลยแม้แต่สาขาเดียว ขณะที่บริเวณปริมณฑลนั้นมีสาขาอยู่ล้อมรอบซึ่งอาจจะสามารถมองได้ว่าเป็นกลยุทธหรือวิธีการทางธุรกิจบางอย่างที่บริษัทพิจารณามาแล้วว่าจะไม่ทำตลาดในกรุงเทพมหานครเลย

 

สำหรับบริษัทแรกเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนไทยไม่ใช่เพียงแค่คนอีสานเท่านั้น บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (Global House) ก่อตั้งโดย คุณวิทูร สุริยวนากุล โกลบอลเฮ้าส์เริ่มแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 14 พ.ย. 2540 ปัจจุบันผ่านมาแล้วเกือบ 27 ปี โกลบอลเฮ้าส์ได้มีการขยายสาขาถึงเกือบ 80 สาขา โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาโกลบอลเฮ้าส์มีรายได้รวมจากการประกอบกิจการอยู่ที่ 33,013.75 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 2,671.43 ล้านบาท แม้ว่าตัวเลขจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ในด้านของรายได้รวมและกำไรสุทธิของปี 2566 นั้นกลับต่ำกว่าปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมาผลจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ แต่ว่าหากมองในฝั่งของตลาดหุ้นนั้นจะพบว่าโกลบอลเฮ้าส์ได้เข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ 19 ส.ค. 2552 ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 15 ปีจากเดิมที่ IPO ในราคาต่อหุ้นที่ 2.55 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 15.80 บาท เพิ่มขึ้น 519.61% แสดงถึงความน่าเชื่อถือและความไว้ใจจากหลายฝ่ายที่ทำให้หุ้นโตมาได้ถึงขนาดนี้ หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่มีการเข้าตลาดหุ้นมานั้นถือว่ากระแสตอบรับของโกลบอลเฮ้าส์เป็นไปในทิศทางที่ดี นับว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากหลังจากมีการเข้าตลาดหุ้นมา

 

สำหรับบริษัทในลำดับถัดมายังคงอยู่ในหมวดค้าวัสดุก่อสร้างที่รู้จักกันทั่วประเทศนั่นคือ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) (DoHome) ก่อตั้งโดย คุณอดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา และคุณนาตยา ตั้งมิตรประชา เดิมทีในตอนตั้งบริษัทตอนแรกนั้นไม่ได้มีชื่อว่าดูโฮมแต่เป็น “ศ. อุบลวัสดุ” ในปี 2526 โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ดูโฮม” ในปี 2539 หรือหลังจากนั้น 13 ปี โดยในปัจจุบันดูโฮมมีสาขาทั้งสิ้น 25 สาขา และ 1 ศูนย์กระจายสินค้า ในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 31,615.25 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 526.40 ล้านบาท หากดูในด้านของตัวเลขรายได้รวมนั้นไม่มีความแตกต่างจากโกลบอลเฮ้าส์มากซักเท่าไหร่ แต่ในด้านของกำไรนั้นกลับพบว่ามีการปรับลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมาสวนทางกับรายได้ที่มีการเพิ่มขึ้นในแต่ละปี อาจสรุปได้ว่ามีเหตุผลที่คล้ายกับทางโกลบอลเฮ้าส์ที่ภาวะความผันผวนของภาคอสังหาในด้านราคาส่งผลกระทบต่อความต้องการในการสร้างและซื้อบ้าน ขณะที่ในด้านของราคาหุ้นนั้นจะพบว่า ณ วันที่ 6 ส.ค. 2562 ซึ่งเป็นวัน IPO เปิดราคาหุ้นที่ 7.80 บาท โดยราคา ณ ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10.40 บาท เพิ่มขึ้น 33.33% แม้ว่าอาจจะไม่หวือหวาเหมือนโกลบอลเฮ้าส์ที่เข้าตลาดหุ้นมาก่อนเป็น 10 ปี แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเป็นไปในทิศทางที่ดีต่อตัวบริษัทและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

หากพิจารณาจาก 2 อันดับแรกจะพบว่าทั้งสองบริษัทแม้จะมีการทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่ในด้านของรายได้นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งคู่ แต่ในตลาดนี้ไม่ได้มีเพียง 2 บริษัทนี้เท่านั้น เพราะยังคงมีคู่แข่งรายใหญ่และรายเล็กอีกมากมายที่ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็น Home Pro ที่มีการร่วมลงทุนของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮาส์ (LH) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย มีสาขาทั่วประเทศมากถึง 90 กว่าสาขา ไทวัสดุ ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่มีสาขาทั่วประเทศมากถึง 100 สาขามากว่าทุกบริษัทที่กล่าวมา โดยสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำกำไรได้นอกจากการขายสินค้าที่รับมาแล้วตั้งขายในร้านของตนเองแล้วนั้นยังมีสินค้าอีกประเภทหนึ่งคือ สินค้าในเครือของบริษัทตนเองหรือ House Brand ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 15 – 20% จากรายได้ทั้งหมด และอีก 80% มากจากสินค้าทั่วไป

 

ลำดับที่สาม บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) (NER) บริษัทผลิตยางพารารายใหญ่ในภาคอีสานที่ทุกคนรู้จักกันดี และยังเป็นบริษัทยางพาราแห่งเดียวในภาคอีสานที่อยู่ในตลาดหุ้น นอร์ทอีส รับเบอร์ ก่อตั้งวันที่ 12 มิ.ย. 2549 โดยมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางไปทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 25,065.71 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 1,545.6 ล้านบาท ส่วนหนึ่งที่กำไรปรับลดลงจากปีก่อนหน้าอาจมีผลมาจากเอลนีโญซึ่งทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลงจงส่งผลต่อรายได้และกำไร ขณะที่หากมองที่ด้านของคู่แข่งจะพบว่าในภาคอีสานนั้นไม่ได้มีมากขนาดนั้น และไม่ได้มีรายใหญ่ในภูมิภาคที่จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวต่อธุรกิจมากนัก ในด้านของตลาดหุ้นนั้น นอร์ทอีส รับเบอร์ IPO เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ที่ราคา 2.58 บาท โดย ณ ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 5.00 บาท เพิ่มขึ้น 93.8% เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในเวลาเพียง 6 ปี และการที่ภาคการผลิตในประเทศมีความจำเป็นต้องใช้ยางในการผลิตในปริมาณมากซึ่งเป็นปัจจัยที่ดีต่อตัวบริษัทในอนาคต

 

ลำดับที่สี่ บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด บริษัทผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2506 หนึ่งในบริษัทผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของคนอีสาน ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 6,297.80 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 557.72 ล้านบาท ในส่วนของรายได้และกำไรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะในแต่ละปี ผลจากภาคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของคู่แข่งรายใหญ่ที่มีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา และอีกปัจจัยหนึ่งคือผลผลิตในแต่ละปีที่ทั้งในด้านของราคาและปริมาณล้วนส่งผลโดยตรงต่อรายได้และกำไร สำหรับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์เข้าตลาดหุ้นวันแรกเมื่อ 6 พ.ย. 2557 ราคาหุ้น IPO อยู่ที่ 6.80 บาท ปัจจุบันราคาลดลงเหลือ 4.36 บาท ลดลง -35.88%

 

และลำดับสุดท้าย บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตเอทานอลแปรรูปจากมันสัมปะหลัง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2550 เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตเอทานอลรายใหญ่ในภาคอีสาน โดยในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,789.41 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 102.25 ล้านบาท ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายได้ปรับลดลงในทุกๆปีซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจต่อผู้ลงทุนซึ่งมีผลต่อตัวหุ้นและราคาหุ้น โดยอุบล ไบโอ เอทานอล จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 โดยมีราคาหุ้น IPO ที่ 2.40 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นเหลือเพียง 0.81 บาท ลดลง -66.25% ในส่วนนี้การลดลงของราคาหุ้นมีผลมาจากปัจจัยในหลายด้าน

 

สรุปโดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าจาก 5 บริษัทขนาดใหญ่ที่ทาง ISAN Insight ได้หยิบมานำเสนอ 2 ใน 5 บริษัทจะมีฐานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และอีก 2 ใน 5 บริษัทจะมีฐานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อตัวจังหวัดทั้งในด้านของการจ้างงานในจังหวัดและบริเวณจังหวัดรอบข้าง หากมองในด้านของตัว GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด) จะเห็นได้ว่าทั้งจังหวัดอุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ล้วนแล้วแต่เป็นจังหวัดที่มี GPP ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีในด้านอื่นๆเป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นกัน และหากมองในด้านของบริษัทย่อมมีปัจจัยในหลายๆด้านที่ทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อตัวบริษัทเองไม่ว่าจะเป็นที่ตั้ง คู่แข่ง ปัจจัยแวดล้อม และการบริหาร สิ่งเหล่านี้หากมีผลดีหรือผลเสียก็จะส่งผลต่อราคาของหุ้นบริษัทและความมั่นใจของนักลงทุนเช่นกัน

นอกจาก 5 บริษัทนี้แล้ว ISAN Insight and Outlook x SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
📣ขอเชิญผู้ประกอบการในอีสาน มาเรียนรู้เส้นทางนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้นไทยได้ที่งาน “Unlock Your Business Growth : เปิดโอกาสให้ธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดการใหญ่” สัมมนาสุด Exclusive ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน (SET-mai-LiVEx) พบกับผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และ CEO นักธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านประสบการณ์ IPO มาแล้ว เช่น
เครือธุรกิจ ตระกูล “จึงธนสมบูรณ์”
🟡ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ จาก บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER
⚫️มธุชา จึงธนสมบูรณ์ จาก บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM
🟡คุณอู๋ ชลากร เอกชัยพัฒนกุล จาก บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน)

ผู้ประกอบการ นักธุรกิจห้ามพลาด ตลาดหลักทรัพย์จัดใหญ่ Unlocking Opportunities for Business Growth – เปิดโอกาสให้ธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดการใหญ่


อ้างอิงจาก

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • Finnomena
  • CredenData
  • เว็บไซต์ของบริษัท

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top