แชร์ลูกโซ่ โมเดลพีระมิดในหน้ากากของธุรกิจเครือข่าย
กลโกงหลอกผู้ลงทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย
.
“แชร์ลูกโซ่” ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ยกตัวอย่างกรณีของไทยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เช่นคดี แชร์แม่ชม้อย แชร์แม่มณี และ forex-3D ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก ทั้งหมดล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายให้กับผู้คน ธุรกิจ รวมไปถึงเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
มูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้นั้นส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก กรณีแชร์แม่ชม้อยในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2528 มีมูลค่าความเสียหาย 500 ล้านบาท ต่อมาที่แชร์แม่มณีในปี 2562 มูลค่าความเสียหาย 1,376 ล้านบาท และ forex-3D ในปี 2564 ที่สร้างมูลค่าความเสียหายมากถึง 2,500 ล้านบาท รวมถึงผลกระทบต่อผู้เสียหายอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้
รูปแบบของการแชร์ลูกโซ่มีความเหมือนกันคือ การเสนอผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงผิดปกติ ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ลงทุนมาเป็นหุ้นส่วนกับเราวันนี้รับประกันผลตอบแทน 7 เปอร์เซ็นในทุกๆ เดือน และสร้างภาพลักษณ์ให้ดูประสบความสำเร็จ มีความมั่งคั่ง เพื่อให้ผู้ลงทุนรู้สึกไว้วางใจ โดยมีธุรกิจที่ใช้ในการอ้างอิงที่มาของผลตอบแทนนั้น เช่น การเทรด forex โดยใช้เอไอ การลงทุนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจน้ำมัน หรือ การออมเงินร่วม ธุรกิจที่ใช้อ้างอิงเหล่านี้มักจะเสนอผลตอบแทนที่สูง โดยที่ไม่ได้มีสินค้าหรือไม่ได้มีการดำเนินกิจการจริง
วิธีที่ธุรกิจมิจฉาชีพเหล่านี้ใช้ในการจ่ายผลตอบแทนนั้นมักจะมาจาก การนำเงินของนักลงทุนใหม่ไปจ่ายให้กับนักลงทุนเดิม ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาแรกๆก็จะได้รับผลตอบแทนจริง แต่ระบบจะพังลงมาทันทีเมื่อไม่มีนักลงทุนใหม่ๆเข้ามา เนื่องจากไม่มีเงินหมุนในระบบอีกต่อไป และผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆก็คือนักลงทุนใหม่ที่พึ่งเข้ามาในระบบ เนื่องจากไม่มีเงินหมุนเวียนมาเพื่อจ่ายผลตอบแทน ซึ่งรูปแบบของการลงทุนนี้จะเรียกได้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบ Ponzi scheme
แต่ยังมีแชร์ลูกโซ่ในอีกรูปแบบนึงที่มักจะถูกบังหน้าด้วยธุรกิจเครือข่าย และกำลังมีธุรกิจเครือข่ายขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบันกำลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ดังกล่าวก็คือ ธุรกิจแบบพีระมิด หรือ Pyramid scheme ที่เป็นการเสนอผลตอบแทนที่สูง จากโอกาสที่ธุรกิจหรือสินค้านั้นๆสามารถทำได้ และผู้ลงทุนยังได้รับประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายหรือที่เรียกว่า ”ตัวแทนจำหน่าย” ที่ต่อขาลงไปด้วยการชวนคนใหม่ๆเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย รูปแบบของการหมุนเงินจะค่อนข้างคล้ายกันคือ การนำเงินลงทุนของคนใหม่ๆ เข้ามาจ่ายให้กับคนเดิม ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ และเมื่อไม่มีคนเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นอีกต่อไป ระบบก็จะพังลงในที่สุด
ปัญหาและผลกระทบจากแชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในระดับประเทศ จากผลกระทบที่ไปรบกวนกลไกของตลาด เนื่องจากธุรกิจหรือสินค้านั้นๆไม่ได้มีอยู่จริง และผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงแค่ผู้เริ่มกลโกงแชร์ลูกโซ่หรือกลุ่มที่อยู่ด้านบนของพิรามิดเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจสามารถหยุดชะงัก จากการโยกย้ายเงินทุนที่ไม่ได้สร้างมูลค่าอะไรให้ระบบเศรษฐกิจเลย
.
หากมองเจาะลึกลงมาที่ภาคอีสานก็จะพบว่า มีผู้เสียหายจำนวนไม้น้อยในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ โดยในกรณีคดีแชร์แม่มณีที่เคยเกิดขึ้น ที่พื้นเพเป็นคนในภาคอีสาน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ณ จุดเริ่มต้นของธุรกิจแชร์ลูกโซ่นี้ มีคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบไปเป็นจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของตลาดแบบออนไลน์ ทำให้ผู้เสียหายกระจายตัวไปทั่วประเทศมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนครั้งของแชร์แม่ชม้อยแล้ว แน่นอนว่าผลกระทบต่อผู้คนและมูลค่าความเสียหายย่อมรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
.
สถานการณ์ปัญหาของแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบพีระมิด ในปัจจุบันที่ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบภายในประเทศเพียงเท่านั้น เนื่องจากการผันตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ทำให้วงของผลกระทบมีความกว้างมากยิ่งขึ้นจนถึงประเทศใกล้เคียง จากรายงานข่าวของ The nation พบว่าได้มีการเผยแพร่คลิปวิดิโอที่บริษัทธุรกิจเครือข่ายที่กำลังต้องสงสัยในประเทศไทย ได้โปรโมตการลงทุนและสินค้าอยู่ที่ประเทศลาว โดยทางบริษัทดังกล่าวได้มีการรับตัวแทนจำหน่ายหลายคน รวมถึงดาราและนักแสดงในประเทศลาว และยังมีรายงานเพิ่มเติมถึงการโปรโมตธุรกิจที่ประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ อีกด้วย
จากปัญหาที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีเพียงประเทศของเราที่มีกลโกงแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้น แต่ในประเทศใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งประเทศที่มีความเจริญแล้วล้วนแต่เจอปัญหาแชร์ลูกโซ่เหมือนกัน แตกต่างกันเพียงแต่รูปแบบของการลงทุนหรือสินค้าที่ใช้ในการโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนเพียงเท่านั้น โดยเราได้หยิบยกตัวอย่างของกลโกงแชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นในประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาให้เห็นกัน
.
ลาว
สื่อ RFA ได้รายงานว่า บริษัททางการเกษตรที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ในประเทศลาวผิดนัดชำระเงิน 400 ล้านบาทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยบริษัทดังกล่าวคือบริษัท PS Agriculture and Industry Promotion Import-Export ที่มีสินค้าทางการเกษตรรวมถึงสินค้าแปรรูป ที่ได้เชิญชวนให้ชาวลาวฝากเงิน 2,000 จนถึง 20,000 บาท โดยการรันตีผลตอบแทน 4 เปอร์เซ็นในทุกๆเดือน และบวกด้วยโบนัส 24 เปอร์เซ็นหากฝากเงินครบ 1 ปี และมีการจัดหาสมาชิกเพื่อมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อรัฐบาลได้ประกาศเตือนถึงการละเมิดกฎหมายเนื่องจากบริษัทไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถาบันทางการเงิน ทำให้คนเริ่มที่จะไม่ลงทุนเพิ่มและมีการถอนการลงทุนออกไป ทำให้สภาพคล่องของบริษัทไม่สามารถหมุนเวียนเงินมาเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่เคยการันตีไว้ได้
.
เวียดนาม
เนื่องจากตลาดธุรกิจเครือข่ายของเวียดนามมีขนาดที่ใหญ่ ทำให้พบปัญหาการดำเนินธุรกิจแบบ Pyramid scheme อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการหาตัวแทนจำหน่ายมาลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินงานจริง ไปจนถึงการเพิ่มราคาสินค้าให้สูงกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่า เพื่อให้เก็บกำไรเพิ่มเติมจากส่วนต่าง อย่างในกรณีล่าสุด
Vietnamnet (ดำเนินการโดยบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐบาลเวียดนาม) ได้นำเสนอ การจับกุมสมาชิก 7 คนจากบริษัท Lien Ket Viet ที่อ้างว่าดำเนินธุรกิจในรูปแบบ MLM แต่ถูกพบว่าการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกับแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบของ Pyramid scheme โดยมีผู้เสียหายมากกว่า 45,000 รายที่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,600 ล้านบาท
.
ปัญหาการหลอกลวงหาคนมาลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้มีอยู่จริงนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามยุคสมัย เกิดขึ้นวนเวียนเป็นวัฐจักรอย่างที่เราเห็นตัวอย่างคดีแชร์ลูกโซ่ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการขาดความสมดุลทางข้อมูล จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆอีกมากมายตั้งแต่ระดับจุลภาคถึงระดับมหภาค รวมถึงการสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ของผู้เสียหาย ปัญหาดังกล่าวจึงควรได้รับการแก้ไข ป้องกัน รวมถึงการมีมาตรการในการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลโกงในรูปแบบต่างๆขึ้นมาอีกครั้ง
ที่มา
กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานกิจการยุติธรรม, Vietnamnet (Vietnam Posts and Telecommunications Group (VNPT)), Radio Free Asia, The nation, Thai PBS