คำเตือน: บทความนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเท่านั้น บนสมมติฐานที่ว่า “หากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคที่มากขึ้น จะส่งผลต่อปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้น”
ลดปริมาณ “ขยะอาหาร” เป็นเป้าหมายโลก
การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่ง UN ได้ตั้งเป้า ให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50%
- ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร
- สหรัฐอเมริกา เน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะอาหาร มากกว่าการลงโทษ
- เกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการลด ปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี
สำหรับประเทศไทย ค่านิยม “เหลือ…ดีกว่าขาด” ทำให้อาหารส่วนเกินจำนวนมาก กลายเป็นขยะอาหาร แล้วส่วนใหญ่ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา
ขยะอาหารของไทยมีมาก และยังจัดการไม่ดีพอ
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2560 มีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ไทยมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของ กทม. สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียง 2 % เท่านั้น
ISAN Insight and Outlook สิ พามาเบิ่ง สถานการณ์ขยะในภาคอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ถือเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งย่อมตามมาด้วยการบริโภคสูงที่สุดในประเทศเช่นกัน
ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจตั้งแต่ในระดับประเทศ จนไปถึงระดับจังหวัด แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้น แต่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบในเชิงลบภายนอกเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ จากการบริโภคที่มากขึ้น โดยปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณขยะเกิดขึ้น 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 5% เฉพาะในภาคอีสานมีปริมาณขยะตลอดทั้งปี 6.52 ล้านตัน หรือ 24% ของทั้งประเทศ ซึ่งปริมาณขยะที่มากจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การสะสมของเชื้อโรคหรือต้นทุนในการกำจัดที่เพิ่มขึ้น โดยงานศึกษานี้ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวและปัจจัยอื่น ๆ ว่ามีผลต่อปริมาณขยะในแต่ละจังหวัดในภาคอีสานอย่างไร
การศึกษาครั้งนี้ได้อ้างอิงวิธีการศึกษาและการคัดเลือกตัวแปรจากงานศึกษาของ Blagoeva (2023) ที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลในบัลแกเรียเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป การศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมในบัลแกเรียและประเทศอื่นๆ ส่งผลต่อปริมาณขยะมูลฝอย
โดยในการศึกษาครั้งนี้ต้องการที่จะเจาะจงในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย โดยจะใช้แบบจำลองถดถอยเชิงพหุคูณหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยตัวแปรอิสระที่ใช้ศึกษา ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวรายจังหวัด(GPP per capita) เฉลี่ย 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2565 ของทุกจังหวัดในภาคอีสาน (ที่มา: สภาพัฒน์)
- จำนวนประชากรแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน ปี 2565 (ที่มา: สภาพัฒน์)
- ดัชนีผสม มิติสิ่งแวดล้อม แต่ละจังหวัดในภาคอีสาน (ที่มา: สภาพัฒน์)
- ความหนาแน่นประชากรรายจังหวัด ปี 2566 (ที่มา: กรมโยธาและผังเมือง)
โดยตัวแปรตามคือปริมาณขยะมูลฝอยต่อปี(ตัน)ในแต่ละจังหวัด โดยเฉลี่ยจากข้อมูล 10 ปี ตั้งแต่ 2556-2565
ผลของแบบจำลองถดถอย แสดงผลว่า ตัวแปรจำนวนประชากร ดัชนีผสมมิติสิ่งแวดล้อม และความหนาแน่นของประชากร ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อตัวแปรตาม หรือไม่มีผลต่อปริมาณขยะมูลฝอยในภาคอีสาน ในขณะที่ตัวแปร ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวรายจังหวัด หรือ GPP ต่อหัวมีนัยสำคัญทางสถิติต่อตัวแปรตาม ณ ระดับความเชื่อมั่น 99% โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรอิสระเท่ากับ 7.96 หรืออธิบายง่ายๆคือ ณ ปีๆหนึ่ง หากรายได้ต่อหัวของคนในจังหวัดภาคอีสานเพิ่มขึ้น 1 บาท จะก่อให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น ประมาณ 8 ตันต่อปีต่อจังหวัด โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดในภาคอีสานมีการเติบโตของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างจังหวัดเลย ซึ่งมีการเติบโตของรายได้ต่อหัวต่อเฉลี่ย 10 ปีผ่านมาเพิ่มขึ้นปีละ 4,000 บาท แสดงว่าปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นตามปีละ 32,000 ตัน ซึ่งเพิ่มจากปริมาณขยะเฉลี่ย 10 ปี ของจังหวัดเลย 14%
อย่างไรก็ตาม แบบจำลองที่ใช้ในการศึกษานี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกตัวแปรที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ผลของการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า GPP ต่อหัว ที่สูงขึ้นหมายถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ ส่งผลต่อปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นและผู้จัดทำนโยบายควรคำนึงถึงในการดูแลและรับมือกับปัญหาขยะมูลฝอย ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรมโยธาและผังเมือง, กรมควบคุมมลพิษ