จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของทางการเงินสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงาน “การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 ทั่วราชอาณาจักร” จะพบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่มีรายได้และรายจ่ายภาคครัวเรือนต่ำที่สุดในประเทศ แต่ถึงแม้ว่ารายได้ของครัวเรือนในภาคอีสานเฉลี่ยนั้นจะมากกว่ารายจ่ายก็จริง ก็ในด้านของหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนนั้นภาคอีสานก็สูงไม่แพ้ภาคอื่นเช่นกัน
“ครัวเรือนในภาคอีสานแม้จะมีรายได้เฉลี่ยใกล้เคียงกับภูมิภาคอื่นๆ แต่กลับมีสัดส่วนรายได้จากการทำงานเฉลี่ยน้อยที่สุด และพึ่งพารายได้ที่ได้รับการช่วยเหลือในสัดส่วนที่มากที่สุด ในขณะที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยเป็นรองเพียงภาคใต้ และ กรุงเทพฯ”
หากมาดูโครงสร้างรายได้ของครัวเรือนในภาคอีสานจะพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในภาคอีสานจะอยู่ที่ 22,524 บาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็น รายได้ประจำที่เป็นตัวเงิน 17,908 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจาก 1) การทำงาน 12,724 บาท 2) จากการช่วยเหลือต่าง ๆ 5,024 บาท และ 3) รายได้จากทรัพย์สินต่าง ๆ 161 บาท ส่วนต่อมาได้แก่ รายได้ประจำที่ไม่เป็นตัวเงิน 4,221 บาท เช่น ค่าประเมินค่าเช่าบ้านที่ไม่เสียเงิน หรือสินที่ได้มาโดยไม่ต้องซื้อ เป็นต้น และในส่วนสุดท้าย รายได้ไม่ประจำที่เป็นตัวเงิน 395 บาท เช่น ทุนการศึกษา มรดก เงินจากประกัน เป็นต้น
กราฟแสดงรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของแต่ละภูมิภาคของไทย ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ในส่วนของโครงสร้างรายจ่ายของครัวเรือนในภาคอีสานนั้นจะพบว่า รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในภาคอีสานจะอยู่ที่ 18,676 บาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็น รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 16,540 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มาจาก 1) อาหาร และเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 7,202 บาท 2) ที่อยู่อาศัย เครื่องต่างบ้าน และเครื่องใช้ต่าง ๆ 3,870 บาท 3) การเดินทางและการสื่อสาร 3,498 บาท และ 4) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 1,895 บาท และส่วนที่สองได้แก่ รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค 2,136 บาท เช่น เงินสมทบประกันสังคม เงินทำบุญ หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
กราฟแสดงรายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของแต่ละภูมิภาคของไทย ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
หากมองเพียงผิวเผินอาจกล่าวได้ว่ารายจ่ายนั้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับรายได้ที่เมื่อรายได้ไม่สูงมากนัก การบริโภคจึงไม่สูงตาม ทำให้ภาคอีสานมีสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้สูงที่สุดในประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 82.9 จึงทำให้มีเงินออมหรือเงินชำระหนี้น้อยกว่าภาคอื่น ๆ แต่เมื่อพิจารณาทั้งรายได้และรายจ่ายของคนในภาคอีสานให้ละเอียดนั้นจะพบว่า รายได้ประจำที่มากจากการทำงานซึ่งถือเป็นรายได้หลักนั้นเฉลี่ยทั้งครัวเรือนในภาคอีสานมีอยู่เพียง 12,724 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาคอื่นแล้วนั้นภาคอีสานถือเป็นภาคที่มีรายได้จากการทำงานต่ำที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 75 ของรายได้จากการทำงานที่น้อยกว่าภูมิภาคอื่น และเมื่อพิจารณาคู่กับรายจ่ายเฉพาะการอุปโภคบริโภคนั้นมีสูงถึง 16,540 บาทต่อเดือน จึงสามารถกล่าวได้ว่าในทุก ๆ หนึ่งเดือนครัวเรือนภาคอีสานต้องหาเงินเพิ่มอย่างน้อย 3,816 บาทเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค โดยในส่วนนี้ครัวเรือนในภาคอีสานส่วนหนึ่งถูกทดแทนด้วยการช่วยเหลือด้านการเงินจากบุคคลนอกครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 2,756 บาท และการช่วยเหลือด้านอาหารและสินค้าต่าง ๆ อีกเฉลี่ยเดือนละ 2,003 บาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าภูมิภาคอื่นเป็นอย่างมาก และหากสะสมพอกพูนไปในระยะยาวนั้นอาจกลายเป็นปัญหาหนี้ขนาดใหญ่ได้ในอนาคตได้เช่นกัน
กราฟแสดง รายได้เฉพาะจากการทำงานเท่านั้น เทียบกับรายจ่าย ของครัวเรือนในแต่ละภูมิภาค
ทำไมรายได้ครัวเรือนภาคอีสานใกล้เคียงกับภาคอื่นแต่มีหนี้สิน
แม้ว่ารายได้โดยภาพรวมของคนในภาคอีสานจะใกล้เคียงกับคนในภาคอื่นก็จริง และเมื่อมองรายจ่ายแล้วก็คงมีเงินเหลือเก็บและไม่มีหนี้สินแน่นอน แต่เมื่อเรามองดี ๆ แล้วนั้นจะพบว่ารายได้จากการทำงานของครัวเรือนในภาคอีกสานนั้นไม่เพียงพอต่อรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในแต่ละเดือน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกครัวเรือนก็คงจะมีการก่อหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนแทน จากความไม่สมดุลของรายได้และรายจ่าย หนำซ้ำจากความไม่สมดุลของรายได้และรายจ่ายนั้นจึงส่งผลให้ครัวเรือนในภาคอีสานไม่มีเงินเก็บ หรือเงินเพื่อจ่ายหนี้สินในแต่ละเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้วที่จะมีเงินส่วนต่างระหว่างรายได้จากการทำงานและรายจ่ายการอุปโภคบริโภคในแต่ละเดือนแล้วนั้นจะมีเงินเหลืออย่างน้อย 2,000 – 4,000 บาท หากมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารายได้จากการทำงานเฉลี่ยของครัวเรือนในภาคอีสานเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.1 ขณะที่รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 4.27 และเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมาจะพบว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่มีรายได้จากการทำงานต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.62 เพิ่มขึ้นเกือบน้อยที่สุดเป็นรองเพียง กทม. และ 3 จังหวัด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศที่ร้อยละ 12.11 แต่รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 10.75 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 9.8 หากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ จะส่งผลให้ครัวเรือนในภาคอีสานต้องไปกูหนี้ยืมสินมาเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นจริงซักเท่าไหร่นัก
เปรียบเทียบ รายได้ รายจ่าย และหนี้สิน ของแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย