พามาเบิ่ง “แรมซาร์ไซต์”  พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศในภาคอีสาน🏔️🌳🍃

“พื้นที่ชุ่มน้ำ” ว่าคืออะไร? มื้อนี้ ISAN Insight & Outlook สิมาเว้าสู่ฟัง … 

 

แรมซาร์ไซต์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศนี้ ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำและปลา ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่จัดขึ้นที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่านในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 

 

อนุสัญญาฯ นับเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่อกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2518 และเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)

 

ในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 15 พื้นที่ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Sites) โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ทั้งหมด 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่

 

  1. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง📍จังหวัดบึงกาฬ

ขึ้นทะเบียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2544 ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 1,098 ของโลก

เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีขนาดพื้นที่รวมกว่า 13,837.5 ไร่ ตั้งแต่ตำบลบ้านต้อง, ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา และ ตำบลบึงโขงหลง, ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง มีลักษณะแคบยาวเกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันน้ำมีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ความกว้าง 2 กิโลเมตร ในบึงมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5 – 1 เมตร โดยส่วนที่ลึกสุดประมาณ 6 เมตร บึงโขงหลงเป็นส่วนที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำสงคราม น้ำจากบึงไหลลงสู่แม่น้ำสงครามก่อนออกแม่น้ำโขง

 

ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสวนยางพารา ไร่ยาสูบ และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3.12 ล้านบาท/ปี โดยจำแนกเป็นมูลค่าจากการประมง 1.73 ล้านบาท/ปี การท่องเที่ยว 0.19 ล้านบาท/ปี และการบริการ 1.20 บาท/ปี

 

 

  1. พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง📍จังหวัดบึงกาฬ

ขึ้นทะเบียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2552 ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 1,926 ของโลก

ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ที่มีขนาดพื้นที่รวม 13,750 ไร่ เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญมีคุณค่าการใช้ประโยชน์ด้านเป็นแหล่งประกอบอาชีพและการท่องเที่ยว ได้แก่ ด้านการประมง จัดเป็นแหล่งประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของชาวบึงกาฬ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละจำนวนมาก ด้านการปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของพืชอาหารและน้ำเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคและกระบือด้วยวิธีธรรมชาติ ด้านการเกษตร พื้นที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบบางส่วนมีการทำสวนยางพารามากขึ้น และด้านการท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบ ได้แก่ หลวงพ่อใหญ่ วัดโพธาราม ศาลเจ้าแม่สองนาง หาดทรายตามริมน้ำโขง หนองกุดทิง และหนองบึงกาฬ ในตำบลบึงกาฬ 

 

โดยมีครัวเรือนได้รับประโยชน์จากกุดทิง 2,556 ครัวเรือน มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 63,000 บาท/ ปี และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 161.03 ล้านบาท/ปี

 

 

  1. พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง📍จังหวัดนครพนม

ขึ้นทะเบียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 2,420 ของโลก

อยู่ในพื้นที่แม่น้ำสงคราม และป่าบุ่งป่าทามริมน้ำ ที่มีความยาว 92 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำบริเวณที่บรรจบกับแม่น้ำโขง โดยมีขนาดพื้นที่รวม 34,381 ไร่ ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำมากมายหลายชนิด ซึ่งเกี่ยวโยงกับระบบนิเวศป่าทาม และเชื่อมโยงกับลำนำสาขาใหญ่ของแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำสงครามเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชุมชน เป็นแหล่งหาปลาซึ่งจะมีปริมาณมากในช่วงน้ำท่วม

 

โดยพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 130 ล้านบาท/ปี

 

 

อ้างอิงจาก:

– สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ

– สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– กรุงเทพธุรกิจ

– MGR Online

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #แวดล้อม #แวดล้อมอีสาน #แรมซาร์ไซต์ #RamsarSites #พื้นที่ชุ่มน้ำ #พื้นที่ชุ่มน้ำอีสาน



Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top