ร้อยเอ็ด จังหวัดเกินร้อย จากเมืองประตู 101 ทิศสู่เมืองแลนด์มาร์คแห่งอีสาน

ร้อยเอ็ด จังหวัดเกินร้อย จากเมืองประตู 101 ทิศสู่เมืองแลนด์มาร์คแห่งอีสาน

.

เมืองร้อยเอ็ด เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “สาเกตนคร” หรือ เมืองร้อยเอ็ดประตู อันเนื่องมาจากเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรื่องโดยที่มีเมืองขึ้นจํานวนมาก ชื่อของเมืองร้อยเอ็ดนั้นได้มาจากเป็นเมืองที่มีประตูล้อมรอบเป็นกําแพง การตั้งชื่อเมืองให้มีความใหญ่เกินเพื่อให้เป็นสิริมงคล ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการตั้งชื่อเมืองโบราณ

.

ร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งคนทั่วไปอาจรู้จักในนามของจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัท Global House หนึ่งในร้านค้าวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ ที่เป็นบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในภาคอีสาน แต่ความจริงแล้ว ร้อยเอ็ดมีจุดแข็งและเสน่ห์ในหลายๆ ด้านที่คนอาจยังไม่ทราบกันมากนัก

ภาพจาก Global House

.

ร้อยเอ็ด มีศักยภาพในด้านใดบ้าง ?

อีสานอินไซต์ จะพามาเบิ่ง

.

.

เศรษฐกิจของร้อยเอ็ด ปี 2565 มีมูลค่าเศรษฐกิจ (GPP) 83,818 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 7 ของอีสาน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต้นๆของภาคอีสาน โดยศรษฐกิจของร้อยเอ็ดสามารถสร้างรายได้ทั้งจากภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเป็นหลัก โดยสัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดร้อยเอ็ด ในปี 2565 มาจาก

– ภาคบริการ 56,159 ล้านบาท (67%)

– ภาคเกษตรกรรม 17,055 ล้านบาท (20%)

– ภาคอุตสาหกรรม 10,604 ล้านบาท (13%)

.

แต่เมื่อดูย่อยเป็นประเภทธุรกิจ ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคหลักที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดได้มากที่สุด โดยร้อยเอ็ดปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก โดยสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตกว่า 9.5 แสนตัน ในปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งถือว่าปลูกข้าวมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของภาคอีสาน

.

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่ และ ข้อความ

ซึ่งพันธุ์ข้าวที่จังหวัดร้อยเอ็ดปลูกมากที่สุด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งถือเป็นสินค้า GI ประจำจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมาก โดยร้อยเอ็ดมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มากที่สุดในภาคอีสาน จาก 5 จังหวัดที่มีพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีสัดส่วนพื้นที่กว่า 46% จากพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งหมด จึงเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัด

.

และทำให้โรงสีข้าวในร้อยเอ็ดได้รับผลประโยชน์ไปด้วย โดยร้อยเอ็ดมีรายได้จากธุรกิจโรงสีข้าวมากที่สุดในภาคอีสาน โดยมีรายได้กว่า 10,076 ล้านบาทในปี 2566 และโรงสีข้าวที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท มีมากถึง 4 แห่ง จากบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาททั้งหมด 9 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 44% เลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทในร้อยเอ็ดส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว 

.

นอกจากพืชเศรษฐกิจหลักอย่างข้าวแล้ว หลายคนคงไม่รู้ว่าร้อยเอ็ดมีรายได้จากการปลูกพืชอย่างยาสูบอีกด้วย โดยร้อยเอ็ดมีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตของยาสูบมากที่สุดในภาคอีสาน อีกทั้งเป็นจังหวัดที่ปลูกยาสูบมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ เป็นรองเพียงจังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย พะเยา ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก 16,323 ไร่ และมีผลผลิตกว่า 3.4 ล้านกิโลกรัม ซึ่งทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดถือเป็นแหล่งเพาะปลูกยาสูบสำคัญของภาคอีสาน และเป็นลำดับต้นๆของประเทศ และเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดอย่างมาก 

.

ซึ่งนอกจากภาคเกษตรกรรมแล้ว ร้อยเอ็ดสามารถสร้างรายได้จากภาคบริการ โดยเฉพาะการค้าปลีกและค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ที่ในหลายๆจังหวัดของอีสาน ทุกคนจะต้องเคยเห็น Global House ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน โดยในปี 2566 บริษัทมีรายได้กว่า 32,529 ล้านบาท และมีกำไร 2,530 ล้านบาท ซึ่งนอกจากบริษัท Global House ก็มีบริษัทอื่นที่จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและมีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท กว่า 20 บริษัท ซึ่งทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมากที่สุดในอีสาน และมีรายได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ

.

อีกหนึ่งเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การที่ร้อยเอ็ดเป็นเมืองที่ใช้การสร้างแลนด์มาร์คอย่าง หอโหวด ๑๐๑ และวางระบบพื้นที่ใช้สอยโดยรอบอย่างคุ้มค่าและกระตุ้นพื้นที่โดยรอบให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

.

ภาพจาก ททท.

หอโหวด ๑๐๑

แลนด์มาร์คแห่งใหม่ตั้งที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด มีความสูงโดยรวม 101 ม.(หลังคาชั้น 3 – พื้นชั้นวางแท่นพระฯ) แต่หากรวมความสูงทั้งหมด 123.6 ม. (พื้น – ยอดสุดอาคาร) ซึ่งปัจจุบันเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในอีสาน โดยมี ชั้นที่ 34 เป็นชั้นที่ต่อเติมใหม่ เป็นจุดชมวิวนอกอาคารแบบ 360 องศา โดยมี Highlight จุดชมวิวพื้นกระจกใส (Sky Walk) และ จุดโหนสลิงโรยตัว (Zipline) ในอนาคต/ และชั้นที่ 35 เป็นชั้นสูงสุดที่ต่อเติมใหม่ซึ่งจะเป็น ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด การออกแบบมีลักษณะคล้ายเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ที่เรียกว่า โหวด ซึ่งสื่อให้ถึงความเป็นบ้านเกิด

จังหวัดร้อยเอ็ดได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสาธารณะให้เป็นหัวใจสำคัญของเมืองโดยให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิตของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเมืองที่ยั่งยืนโดยใช้พื้นที่สาธารณะสีเขียวเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเมืองรวบรวมกิจกรรม ผู้คนและวิถีชีวิตบริเวณใจกลางเมืองเก่า ซึ่งจะพบว่า เมืองร้อยเอ็ดมีพื้นที่สีเขียวกว่า 22 ตารางเมตร/คน 

ด้วยความพยายามของเมืองและเทศบาล ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของเมือง จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาและปรุงปรุงพื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบหอโหวต 101 พื้นที่รวมกว่า 17 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ พื้นที่เอนกประโยชน์ของเมือง เชื่อมต่อกับพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด เนื้อที่กว่า 123 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดในการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบคูเมืองด้านใน และพื้นที่สระแก้ว ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมืองอีกด้วย

หอโหวต 101 ดึงดูดเศรษฐกิจรอบบึงพลาญชัย

หลังจากที่หอโหวต 101 เปิดให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมทัศนียภาพของเมืองแบบ 360 องศา ตั้งแต่ปลายปี 2563 นอกจากจะกลายเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของเมืองแล้ว การพัฒนาพื้นที่หอโหวตซึ่งเชื่อมต่อกับบึงพลาญชัย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นใจเมืองร้อยเอ็ด นำมาซึ่งความคึกคัก ของผู้คนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ รวมถึงความคึกคักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร้านค้าร้านอาหาร และค่าเฟ่ ต่าง ๆ ที่เปิดรับกับการพัฒนาในระดับเมืองในพื้นที่โดยรอบอย่างเห็นได้ชัด จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนร้านคาเฟ่ในเมืองเก่าร้อยเอ็ด เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา นั่นคือ ก่อนการพัฒนาพื้นที่บริเวณหอโหวต กับปัจจุบัน จะพบว่า แต่เดิมในช่วงปี 2558 กลุ่มธุรกิจร้านค้าคาเฟ่เหล่านี้มีจำนวนรวมประมาณ 40 กว่าร้านค้า และกระจุกตัวบริเวณพื้นที่ย่านเศรษฐกิจรองบนถนนสันตุสุข เป็นส่วนมาก เมื่อเปรัยบเทียบกับข้อมูลล่าสุดในปี 2564 พบว่า จำนวนร้านค้าคาเฟ่ในเขตเมืองเก่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เป็นกว่า 90 ร้านค้า และมีการกระจุกตัวโดยรอบพื้นที่หอโหวตและบึงพลาญชัย อย่างเห็นได้ชัด

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความหนาแน่นและความพลุกพล่านของกิจกรรมการใช้ชีวิตในเมือง ช่วยส่งเสริมให้เกิดการรักษาและเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในเมือง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลา่งเมืองอย่างแท้จริงทั้งการเป็นพื้นที่ศูนย์รวมกิจกรรมและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของผู้คนในพื้นที่ต่อไป

.

มาถึงประเด็นน่าสนใจสุดท้าย นั่นก็คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ

.

ปกติร้อยเอ็ดมีสนามบินเป็นของตัวเองอยู่แล้ว นั่นก็คือ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มานานกว่า 20 ปี ซึ่งผู้โดยสารที่มาท่าอากาศยานร้อยเอ็ด มีมากกว่า 300,000 คนต่อปี ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่มาจากภาคอื่นสามารถเดินทางมาร้อยเอ็ดได้สะดวกมากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางบก ยังคงมีเพียงถนนเท่านั้น แต่ในตอนนี้ ระบบขนส่งใหม่ที่กำลังจะเข้าถึงร้อยเอ็ด ก็คือ ระบบรางรถไฟ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคอีสาน

.

ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวในร้อยเอ็ดเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2566 ร้อยเอ็ดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 804,841 คน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยร้อยเอ็ดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เป็นอันดับที่ 15 ของภาคอีสาน ดังนั้นการที่มีทั้งรถไฟและสนามบิน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของร้อยเอ็ดได้เพิ่มเติม

.

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าจังหวัดร้อยเอ็ดมีศักยภาพและจุดแข็งในหลายด้าน ที่ไม่ใช่แค่เป็นที่ตั้งของบริษัท Global House เท่านั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมร้อยเอ็ดจึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 7 ของอีสาน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต้นๆของภาคอีสาน ทั้งศักยภาพในพื้นที่เองและการสนับสนุนจากภาครัฐ 

.

.

อ้างอิงจาก:

  • สำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด
  • กรมท่าอากาศยาน
  • สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top