“ปลาหมอคางดำ” ชี้แพร่ถึงอีสานยากแต่ยังมีโอกาส นักวิชาการ มข.แนะทางแก้เอเลี่ยนสปีชีส์ “เจอต้องจับ”

“ปลาหมอคางดำ” กลายเป็นคำค้นหายอดนิยมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้บางคนอาจสงสัยว่าปลาชนิดนี้คือออะไร มีที่มาจากไหน รวมถึงมีประโยชน์หรืออันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร วันนี้ 16 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนมารู้จักกับ “ปลาหมอคางดำ” พร้อมไขคำตอบวิธีแก้ไขปัญหาการระบาดของเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) กับ ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ว่า มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ  ปลานิล แต่บริเวณใต้คางจะมีสีดำ และโดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า ปลาชนิดนี้ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา กระทั่งถูกนำเข้ามายังประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนจนเกิดการแพร่ระบาด แต่ยังไม่เป็นที่สนใจเพราะยังมีจำนวนไม่มากและยังไม่มีผลกระทบต่อการทำการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จนไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น  ปัจจุบันข้อมูลจากกรมประมงที่มีการรายงาน  พบว่า ปลาหมอคางดำ มีการแพร่กระจายออกไปแล้ว 13 จังหวัด ตั้งแต่อ่าวไทยรูปตัวกอ เช่น จังหวัดระยอง  ลงไปถึงทางใต้ในจังหวัดสงขลา

จะสังเกตว่า ปลาหมอคางดำอยู่บริเวณเขตชายฝั่งของประเทศไทยและแม่น้ำ ลำคลองที่เชื่อมต่อกับชายฝั่งเป็นหลัก โดยปัจจัยที่มีการแพร่กระจาย คือ ปลาหมอคางดำสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มตั้งแต่ 0-45 PPT คือ อยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และอาศัยอยู่ได้ดีมากในบริเวณน้ำกร่อย  อีกปัจจัย คือ ปลาหมอคางดำมีการฟักไข่ในปาก โดยเฉลี่ยครั้งหนึ่งจะมีไข่ 50-300 อาจจะถึง 500 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งตัวผู้จะดูแลตัวอ่อนค่อนข้างดี ทำให้อัตราการรอดตายของลูกสูงขึ้น คอกหนึ่งอาจจะรอดถึง 90-95% และเมื่อลูกออกมาจากปากก็จะตัวโตพอหาอาหารได้เองแล้ว

 

ภาพ : เว็บไซต์กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับปลาหมอคางดำนั้น มีประโยชน์ คือ สามารถนำมาเป็นอาหารให้มนุษย์บริโภคได้ ทั้งผลิตเป็นปลาเค็มแดดเดียว น้ำปลา น้ำปลาร้า หรือนำไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างการทำปลาป่น หรือนำไปทำเป็นปลาเหยื่อเลี้ยงปลาเนื้อ แต่อีกด้านปลาหมอคางดำก็มีลักษณะพิเศษ คือ หาอาหารเก่ง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้ไปแย่งอาหารปลาธรรมชาติ นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำยังไปทำลายตัวอ่อนของสัตว์น้ำ กินได้ทั้งลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา ทำให้สัตว์น้ำในธรรมชาติก็ค่อย ๆ ลดลงไป และตัวมันก็แพร่พันธุ์เร็วและมากยิ่งขึ้น

สำหรับโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะแพร่มายังภาคอีสานหรือไม่นั้น  หัวหน้าสาขาวิชาประมง ระบุว่า ยังมีโอกาสอยู่ แต่การจะแพร่ตามธรรมชาติคงต้องใช้เวลา เนื่องจากภูมิประเทศ และระบบลำน้ำของภาคอีสานไม่ได้เชื่อมต่อกับภาคกลางมากนัก ซึ่งการแพร่พันธุ์จะเน้นแพร่มาจากแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งระบบลำน้ำปกติแล้วจะไหลออกไปยังแม่น้ำโขง ดังนั้น หากจะแพร่มาภาคอีสานได้อาจจะเข้ามาทางแม่น้ำโขง แต่ตัวการที่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ คือ มนุษย์ที่นำพาปลาหมอคางดำเข้ามา จุดนี้เป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ

“คนเราต้องการอาหารโปรตีน ภาคอีสานการเลี้ยงสัตว์น้ำมันยาก เพราะดินไม่เหมาะสม การเก็บน้ำไม่อยู่ สารพัดอย่าง เพราะฉะนั้นแหล่งโปรตีนเราก็ต้องการ คนอีสานก็ชอบ ถ้าเกิดมาอยู่อีสานก็อาจจะหมดเลยก็ได้ในอนาคต เหมือนหอยเชอรี่ที่เมื่อก่อนก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ระบาดไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันในอีสานเริ่มขาดแคลนจนมีการเลี้ยงเพราะเป็นเมนูโปรดของหลายคน แต่ทางที่ดีคือ อย่ามีใครนำมาแพร่กระจายในภาคอีสานจะดีที่สุด 

แนะ 3 วิธีแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ผศ.ดร.พรเทพ แนะนำว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญกับเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) อย่างปลาหมอคางดำ สิ่งสำคัญ คือ “เจอต้องจับ” เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่น ควบคุมไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้ อีกวิธี คือ การใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ เช่น การนำไปบริโภค ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้ด้วยการเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ประชาชนต้องการจับปลาหมอคางดำมากยิ่งขึ้น

ส่วนสุดท้าย คือ การใช้ปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว หรือ ปลากดทะเล หรือปลานักล่าอื่น  เพื่อไปทำลายลูกปลาหมอคางดำได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีการพิจารณาและคำนึงถึงความสัมพันธ์กับขนาดและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของปลานักล่าด้วย และขณะเดียวกัน กรมประมงก็อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน เพื่อควบคุมประชากร ลดการแพร่พันธุ์ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เข้ามาและสร้างผลกระทบหลายตัวแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึก โดยให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่ง สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น มีการเรียนการสอนเรื่อง เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ในรายวิชากฎหมายประมง ซึ่งสอนให้นักศึกษาได้รู้ว่า ตามกฎหมายประมงสัตว์น้ำประเภทไหน ครอบครองไม่ได้ เพาะเลี้ยงไม่ได้ และมาตรการควบคุมเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ต้องทำอย่างไร เพราะหลายเคสหากสามารถควบคุมได้ในระบบการเลี้ยงก็จะไม่หลุดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดว่า หากไม่เลี้ยงก็ต้องทำลายไม่นำไปปล่อย และองค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญว่าเป็นสัตว์ที่รุกรานหรือไม่ ก็ไม่ควรเลี้ยงตั้งแต่แรก และต้องกำจัดทันที เพราะหากลงไปในแหล่งน้ำแล้วจะจัดการยาก

“แม้ว่าในสาขาวิชาจะเน้นการเรียนการสอนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ในอนาคตก็จะมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เข้าไปในหลักสูตรมากขึ้น เพราะมีการแพร่กระจายในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษา วิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไปในอนาคตด้วย”

นอกจากปลาหมอคางดำแล้ว ISAN Insight ยังได้รวบรวมปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เคยหลุดและมีการตรวจพบหรือจับได้โดยประชาชนในน่านน้ำอีสานทั้ง 9 สายพันธุ์ ดังนี้
อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่ และ ข้อความ

พามาเบิ่ง🧐9 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ในน่านน้ำอีสาน🐟
.
👾👽“เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) คือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิด ชนิดพันธุ์อยู่ในประเทศไทย อาจนำเข้ามาด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเพื่อการเกษตร การเพาะเลี้ยง หรือเป็นสัตว์เลี้ยงในทางด้านเศรษฐกิจ แต่หาก “เอเลียนสปีชีส์” เหล่านี้อยู่ผิดที่ผิดทางย่อมส่งผลกระทบมากกว่าสร้างประโยชน์
.
🇹🇭ปัจจุบันในประเทศไทย พบว่ามี “ปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” กว่า 3,500 ชนิด ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาเพื่อการเกษตร เป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม รวมทั้งการเก็บรวบรวมไว้ในสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ โดยสามารถแบ่งได้ตามบทบาทที่มีต่อระบบ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น 2 ประเภท
.
1. ประเภทที่ไม่รุกราน (Non invasive)
.
สำหรับกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่น หรือขัดกับสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ
.
อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศ ที่เปลี่ยนไปอาจมีผลให้ชนิดพันธ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และ ขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศได้ สัตว์น้ำในประเภทนี้ เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆ จึงถูกปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วไปได้
.
🐟ปลานิล ปลาทับทิม (ปรับปรุงสายพันธุ์ จาก ปลานิล) ปลานิลจิตรลดา ถิ่นกำเนิดแอฟริกา พบได้โดยทั่วไป แม้จะมีหน้าตาคล้ายปลาหมอคางดำที่เป็นข่าวระบาดอย่างหนักในตอนนี้ เพราะ อยู่ในวงศ์ “ปลาหมอสี” เช่นกันแต่คนละสายพันธุ์ ปลานิลมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า เนื้อเยอะ รสชาติดีกว่า แม้ตอนเล็กๆ ปลานิลจะกินแทบทุกอย่างแต่เมื่อโตขึ้นจะกินพืชน้ำ สาหร่าย มากกว่า และการแพร่พันธุ์ไม่รุนแรงจนกระทบระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นที่นิยมในการบริโภค จึงควบคุมบริมาณในธรรมชาติได้
.
🐟ปลาไน (ปลาคาร์ฟธรรมดา) ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของปลาไน คือประเทศอิหร่าน ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปลาไนเมื่อ ประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เช่นเดียวกับปลาทอง ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาสายพันธุ์ดั้งเดิมของปลาไน ให้เป็นปลาสวยงาม มีสีสันและรูปร่างที่สวยงามขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน เรียกว่า ปลาแฟนซีคาร์ป แต่ในบางภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย ปลาไนได้ถูกนำเข้าและถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาต้ จนแพร่ขยายพันธุ์กระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมืองเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ มีฉายาเรียกว่า “กระต่ายแม่น้ำ” (River Rabbit)
.
🐟ปลาจีน นำเข้ามาจากประเทศจีน ปลาไม่อาจจะแพร่พันธุ์ได้ในธรรมชาติ ต้องทำการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม ซึ่งปลาจีนมีการทดลองเลี้ยงครั้งแรก ทั้ง 3 ชนิด โดย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
1) ปลาเกล็ดเงิน (ปลาลิ่น) (Silver carp)
2) ปลาหัวโต (ปลาซ่ง) (Bighead carp)
3) ปลากินหญ้า (ปลาเฉา) (Grass carp)
ปลาจีน เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ระบาดหนักในทวีปอเมริกาเหนือ แม่น้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปีจนกระทบระบบนิเวศ รวมทั้งชาวอเมรกัน ก็ไม่มีนิยมบริโภคเนื่องจากก้างเยอะ
.
.
2. ประเภทที่รุกราน (Invasive alien species, IAS)
.
เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว และ มีความสามารถในการปรับตัวแข่งขัน แทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี แถมยังมีการดำรงชีวิต ที่ขัดขวาง หรือ กระทบต่อสมดุลนิเวศ ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพันธุ์พื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกอัฟริกัน (ดุกรัสเซีย) และลูกผสม และหอยเชอรี่
.
🐟ปลาดุกบิ๊กอุย เป็นสายพันธุ์ผสม ระหว่าง ปลาดุกอุย + ปลาดุกยักษ์แอฟริกา พบได้โดยทั่วไปหลักการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะวัดและการนิยมปล่อยปลา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน อย่างปลาดุกเทศหรือปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกา และปลาดุกบิ๊กอุย ลูกผสมจากปลาดุกอุยกับปลาดุกแอฟริกา ถูกผสมกับพันธุ์ท้องถิ่นที่ตัวเล็กเนื้ออร่อย กับปลาดุกอุย แอฟริกาที่ตัวใหญ่เนื้อไม่อร่อย การที่ปลาดุกอุยหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นเรื่องน่ากังวลเพราะ ปลาดุกอุยที่ตัวใหญ่กว่า ปลาดุกท้องถิ่นนั้นกินทุกอย่าง แพร่พันธุ์เร็วและอยู่ทนอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้?เพราะปลาดุกมีอวัยวะช่วยหายใจ อยู่บริเวณเหงือกค่อนขึ้นไปทางกะโหลก มีลักษณะคล้ายกิ่งก้าน
.
🐟ปลาซัคเกอร์ / ปลากดเกราะ ถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่ ประเทศบราซิล ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในฐานะปลาเทศบาล หรือ ปลาสวยงาม หลังจากหลุดสู่ธรรมชาติก็สามารถพบได้โดยทั่วไปในหลายแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะปลาชนิดนี้แม้จะมีเนื้อ และรสชาติที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมในการนำไปบริโภค ด้วยรูปลักษณ์และเปลือกที่แข็งทำให้แปรรูปรับประทานได้ยากกว่าปลาชนิดอื่นๆ
.
🐟ปลาพีคอกแบส หรือที่รู้จักกันว่า ปลากะพงนกยูง มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้าไทยมาด้วยจุดประสงค์เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และล่าเพื่อตกปลา ปลากะพงนกยูงมีความดุร้าย และกินจุ กินเก่ง และกินได้ทุกอย่าง แต่จะชอบล่าสัตว์น้ำมากกว่า มีการพบที่ อ.พังโคน จ.สกลนคร
.
🐟เรดเทล แคชฟิช ปลาตระกูลปลากดอเมริกาใต้ วงศ์ปลากดอเมริกาใต้ แต่หัวคล้ายปลาดุก ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และกินทุกอย่างเหมือนกับปลากดหรือปลาดุก ถูกพบที่เป็นข่าวที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
.
🐟ปลาคู้ หรือ ปลาเปคู หรือที่นิยมเรียกกันในเชิงการเกษตรว่า ปลาจะละเม็ดน้ำจืด ถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้เช่น อเมซอน, โอรีโนโก เป็นต้น ปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่งในวงศ์ปลาคาราซิน (Characidae) ในวงศ์ย่อย Serrasalminae หรือวงศ์ย่อยของปลาปิรันยา ทำให้มีหน้าตาคล้ายปลาปิรันย่าแต่ดุร้ายน้อยกว่า และมีขนาดที่ใหญ่กว่า กินได้ทั้งพืชและสัตว์ โดยบางครั้งอาจจะขึ้นไปบนผิวน้ำเพื่อรอกินผลไม้หรือลูกไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นได้เลย ขณะที่ปลาปิรันยาจะกินแต่เนื้อเพียงอย่างเดียว อีกสิ่งที่แตกต่างกัน คือ ฟันและกรามของปลาคู้แม้จะแข็งแรงและแหลมคม แต่ก็ไม่เป็นซี่แหลมเหมือนปลาปิรันยา ปลาคู้ แม้จะได้ชื่อว่าไม่เป็นปลาอันตรายต่อมนุษย์เท่ากับปลาปิรันยา แต่ที่ปาปัวนิวกินีและสหรัฐอเมริกา กลับมีปลาคู้ที่มีพฤติกรรมกัดอัณฑะของผู้ที่ตกปลาหรือลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว ปลาคู้ถูกนำเข้ามาโดยกรมประมง ปี 2539 แต่ไม่แพร่พันธุ์รุนแรงเพราะต้องอาศัยการผสมเทียมเท่านั้น พบได้โดยทั่วไป มีเนื้อเยอะ รสชาติอร่อย
.
🐟ปลาอัลลิเกเตอร์ หรือ ปลาจระเข้ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา แถบลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี ประเทศเม็กซิโก เป็นปลากินเนื้อน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาการ์ ถูกนำเข้าจากต่างประเทศในกลุ่มประเภทปลาสวยงาม ในความเป็นจริงแล้ว ปลาอัลลิเกเตอร์เป็นปลาที่ไม่ดุร้าย ไม่ทำร้ายหรือกินมนุษย์เป็นอาหาร แต่จะกินปลาต่าง ๆ เป็นอาหาร รวมถึงสัตว์ปีกเช่น นกเป็ดน้ำ ได้ด้วย แต่จะกินอาหารชิ้นที่พอที่จะกลืนลงไปได้เท่านั้น เมื่อจับเหยื่อได้แล้วกรามจะล็อกแน่นเพื่อไม่ให้เหยื่อดิ้นหลุด เนื่องจากส่วนหัวมีเนื้อที่ยึดติดกับแผ่นเกล็ดที่แข็งเหมือนเกราะติดกับข้อต่อส่วนคอทำให้แลดูส่วนลำคอลาดโค้ง ทำให้มีแรงงับจำนวนมาก ก่อนที่จะกลืนเหยื่อลงไปในคอ หากจับได้แล้วเหยื่อยังไม่ตาย ก็จะรอให้ตายเสียก่อน ล่าสุดพบในอีสานที่ ต.แก่งเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม
.
ฮู้บ่ว่า?
🐟ปลาเกือบทุกชนิด หายใจด้วยเหงือก เมื่อปลาว่ายน้ำมันจะอ้าปากอมน้ำเข้าไว้ในปาก น้ำซึ่งมีก๊าซออกซิเจนละลายปนอยู่ด้วยนี้ จะผ่านเข้าไปทางช่องเหงือกซึ่งตั้งอยู่ในกระพุ้งแก้ม ทำให้ปลาเหล่านี้ต้องว่ายน้ำตลอดเวลาเพื่อให้น้ำไหลผ่านเหงือก
🐟ปลาบางชนิด เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก มีอวัยวะพิเศษอยู่ใกล้กับเหงือก ใช้ช่วยหายใจในบรรยากาศได้โดยตรง ปลาบางชนิดมีอวัยวะคล้ายปอด ทำให้ต้องผุดขึ้นหายใจเหนือน้ำตลอดเวลา มิฉะนั้นก็จะตาย เนื่องจากไม่อาจหายใจทางเหงือกเพียงอย่างเดียวได้ แต่ก็แลกมากับความทนต่อน้ำที่ออกซิเจนต่ำ ระดับน้ำแห้ง และการทนบนบกได้นานกว่าปลาทั่วไป
.
ข้อมูลอ้างอิง
– กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
– นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
– มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์. (2567, 14 มีนาคม). เวทีเสวนา ปลาดุกไทย ต้องไปต่อ ((Thai Catfish: The Beyond)
– สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2567)

หากพี่น้องชาวอีสานพบ “ปลาหมอคางดำ” สามารถติดต่อทีมงานสำนักเครือข่ายฯ ไทยพีบีเอส ชวนผู้ที่พบเจอปลาหมอคางดำในพื้นที่ใกล้บ้านร่วมกัน ผ่านการปักหมุดรายงานเข้ามาใน C-Site เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ร่วมกัน

ภาพปลาหมอคางดำ : เว็บไซต์กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top