กรมทางหลวงผลักดันโครงการถนนทดลอง วิจัยและพัฒนานำขยะพลาสติกมาผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ทำถนนเส้นเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา

จากปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น และเป็นขยะอีก 1 ประเภทที่กำจัดได้ยาก หากปล่อยให้ย่อยสลายเองก็ใช้เวลานานมากราวๆ 500 ปี จึงจะสลายได้หมด และหากจะกำหนดด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การเผาทิ้ง ก็จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง และไอกรดต่างๆ ที่ส่งผลทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

แม้ว่าในปัจจุบันมีการลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น แต่ทว่าก็มีการใช้สินค้าที่มีการบรรจุในห่อพลาสติกเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารต่างๆ ที่คนนิยมซื้อแบบสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกไม่ได้ลดน้อยลงเลย ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญพยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ การกำจัดในหลายหลายรูปแบบ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การเอาขยะพลาสติกไปทำเป็นถนน” นั่นเอง

 

การนำขยะพลาสติกไปทำเป็นถนนนั้น จะใช้รูปแบบของการนำไปผสมกับยางมะตอยที่เราใช้ทำถนนกันปกติอยู่แล้ว ซึ่งพบว่าถนนมีความทนทานมากขึ้นกว่า 10 เท่า แถมยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อีกด้วย

ขยะพลาสติกประเภทไหนเอามาทำถนนได้บ้าง

ขยะพลาสติกที่จะนำมาทำถนนได้นั้น ต้องเป็นพลาสติกประเภทที่เรียกว่า เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) เป็นพลาสติกที่หลอมเหลวเมื่อได้รับความร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง สามารถหลอมเหลวซ้ำได้หลายครั้งโดยไม่เสียคุณสมบัติเดิม พลาสติกประเภทนี้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายประเภทตามสัญลักษณ์การรีไซเคิล

 

  • PETE (Polyethylene Terephthalate) หรือ PET เป็นพลาสติกใส แข็ง ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย และกันแก๊สซึมผ่านดี ใช้ทำขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช เป็นต้น
  • HDPE (High Density Polyethylene) หรือ HDPE เป็นพลาสติกที่เหนียวและแตกยาก ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ทนทานต่อสารเคมีและสามารถขึ้นรูปทรงต่างๆ ได้ง่าย ใช้ทำขวดนม ขวดน้ำ และบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม เป็นต้น
  • PVC (Polyvinylchloride) หรือ PVC เป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารเคมีและความร้อน ใช้ทำท่อ ฉนวนกันความร้อน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
  • LDPE (Low Density Polyethylene) หรือ LDPE เป็นพลาสติกที่เหนียวและยืดหยุ่นสูง ใช้ทำถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหาร ฟิล์มห่อหุ้ม เป็นต้น
  • PP (Polypropylene) หรือ PP เป็นพลาสติกที่แข็งแรงและทนทานต่อการเสียดสี ใช้ทำขวดพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
  • PS (Polystyrene) หรือ PS เป็นพลาสติกที่น้ำหนักเบาและราคาถูก ใช้ทำถาดใส่อาหาร ถ้วย ช้อน กล่องโฟม เป็นต้น
  • Others (อื่นๆ) เป็นพลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งได้ เช่น ABS, POM, PC, PETG เป็นต้น

สำหรับพลาสติกประเภท PVC นั้นทางผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้เอามาทำถนนเนื่องจากเมื่อถูกความร้อนเกิน 180 องศาเซลเซียส ตัวพลาสติก PVC จะระเหยกลายเป็นไอของกรดเกลือซึ่งเป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

ขั้นตอนการนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนน

สำหรับขั้นตอนการนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนนนั้นก็มีหลายขั้นตอน ดังนี้

  1. คัดแยกขยะพลาสติก โดยแยกพลาสติกประเภทต่าง ๆ ออกจากกัน เช่น พลาสติกแข็ง พลาสติกอ่อน และพลาสติกผสม
  2. ล้างทำความสะอาดขยะพลาสติก เพื่อให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อน
  3. บดขยะพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1 มิลลิเมตร
  4. ผสมขยะพลาสติกที่ถูกให้ความร้อนประมาณ 160 – 180 องศาเซลเซียส กับยางมะตอยที่อุณหภูมิเดียวกัน หรือวัสดุอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยพลาสติกที่ถูกหลอมละลายจะเป็นตัวเชื่อมวัสดุต่างๆ เข้าด้วยกัน
  5. เทส่วนผสมลงบนพื้นผิวถนนและบดอัดให้แน่น

ในการใช้พลาสติกผสมกับยางมะตอยจะสามารถทดแทนยางมะตอยได้ราวๆ 10% ของน้ำหนัก และมีความแข็งแรงกว่าถนนที่ใช้ยางมะตอยแบบเดิมกว่า 60% เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งาน หรือความทนทานมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า และถนนที่ใช้ส่วนผสมของขยะพลาสติกก็มีน้ำหนักเบากว่าถนนปกติถึง 4 เท่าด้วยกัน

ปัจจุบันมีการนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนนในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย เนปาล สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศไทย

 

ในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเริ่มนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนน เช่น

  • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทดลองสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลความยาว 220 เมตร ในปี พ.ศ. 2561
  • กรมทางหลวงชนบท ได้ทดลองสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลความยาว 100 เมตร ในจังหวัดกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 2562
  • กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศแผนที่จะสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลบนพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ภายในปี พ.ศ. 2568

 

การนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนนเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 1.7 – 2.6 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อตันของปริมาณพลาสติกที่ทดแทนยางมะตอย และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

กรมทางหลวงชนบทนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนน

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งมั่นผลักดันโครงการนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดการใช้พลังงาน และการนำวัสดุเดิมกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์

ทช. ได้ทดลองนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมของผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำขยะพลาสติกมาผสมกับแอสฟัลต์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และได้ทดสอบจากการใช้งานในเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรจากรถยนต์และรถบรรทุก เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างเป็นมาตรฐานในการก่อสร้าง และบำรุงทางในอนาคต

โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ไม่มีราคา และย่อยสลายได้ยากให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้เฉลี่ย 5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนน

ปัจจุบัน ทช. โดยสำนักวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา ได้ดำเนินโครงการถนนทดลอง ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไปแล้วจำนวน 4 สายทาง ระยะทางรวม 6.2 กิโลเมตร สำหรับปี 2567 ทช. มีแผนที่จะดำเนินโครงการบำรุงรักษาทางหลวงชนบทสาย นม.3140 แยก ทล.226 – ทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีตผสมขยะพลาสติก ระยะทาง 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่สัญจรไปมาได้รับความสะดวกในการเดินทาง ยกระดับประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้ถนนและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ภาพ: ทช. ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก

ที่มา: กรมทางหลวงชนบท ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก เดินหน้าโครงการถนนทดลอง พัฒนาการคมนาคมอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ที่มา: หอการค้า เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นถนน ทนขึ้น 10 เท่า ช่วยลดโลกร้อน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top