พามาเบิ่ง แบรนด์ของฝากขึ้นชื่อ “โคราช บ้านเอ๋ง”

พามาเบิ่ง แบรนด์ของฝากขึ้นชื่อ “โคราช บ้านเอ๋ง”

 

หากพูดถึงของกินของฝากของเมืองโคราช หลายคนคงจะนึกถึงสองแบรนด์เก่าแก่อย่าง “เจ้าสัว” และ “ปึงหงี่เชียง” แต่รู้ไหมว่า แม้สินค้าของทั้งคู่จะสามารถครองใจผู้บริโภคทั้งเก่าและใหม่มาได้ตลาดหลายปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ไม่หยุดพัฒนา โดยเฉพาะความท้าทายครั้งใหญ่หลังภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้ธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจำนวนมากได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

ครั้งนี้เราชาว ISAN Insight & Outlook จึงอยากพาทุกคนไปดูว่าช่วงที่ผ่านมา “เจ้าสัว” และ “ปึงหงี่เชียง” มีวิธีรับมืออย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนี้

 

เริ่มที่ “เจ้าสัว” ในปี 2563 หันมาปรับกลยุทธ์รองรับ จากเดิมที่เน้นเพิ่มสาขา เปลี่ยนมาเป็นบุกโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำต่าง ๆ ทำให้ยอดขายรวมของปีที่แล้วโตขึ้น 15% ยังไม่รวมไปถึงการลงทุนกับเครื่องจักรภายในโรงงานและระบบหลังบ้านเพื่อให้ทันยุคดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา จนสามารถสร้างรายได้รวมเกือบพันล้านบาทเป็นครั้งแรก

ประกอบกับการที่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ เเละคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แม้จะเป็นอาหารทานเล่นหรือของขบเคี้ยวอย่าง “เนื้อสัตว์แปรรูป” ซึ่งในไทยมีผู้เล่นไม่กี่ราย

ปี 2564 จึงทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ปรับภาพลักษณ์ ไม่เป็นเเค่ร้านขายของฝากที่รอให้คนมาซื้อ เเต่พยายามเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ด้วยการบุกตลาดสแน็ก, Ready to eat และ Ready to cook meal อย่างเต็มตัว อีกทั้งใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นครั้งเเรกในรอบ 63 ปี 

ปัจจุบัน เจ้าสัวมีจำนวน 100 กว่าสาขาทั่วประเทศ เเบ่งเป็นร้านค้าของตัวเอง (Stand Alone) ประมาณ 15 สาขา และแฟรนไชส์ประมาณ 90 สาขา กระจายอยู่ในปั๊มนำ้มัน ปตท. ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศจะเน้นที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ

 

ต่อกันด้วย “ปึงหงี่เชียง” ที่ก็มีสินค้ากลุ่มของทานเล่นเช่นเดียวกับเจ้าสัว ปี 2564 นี้ ได้รับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากโครงการ “ต้นกล้า ทู โกล” ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถยืดอายุอาหารให้นานขึ้นได้

ยกตัวอย่าง “กุนเชียง” จากเดิมที่มีระยะเวลาขายอยู่ 3 เดือน เมื่อพัฒนาเป็น “กุนเชียงพร้อมทาน” ก็ช่วยยืดอายุสินค้าไปได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งเหมาะกับการขยายช่องทางการตลาดไปสู่ห้างฯ หรือโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ในอนาคต รวมไปถึงการส่งออกต่างประเทศที่มากขึ้น

 

ปัจจุบัน ปึงหงี่เชียง มีแฟรนไชส์ที่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน ปตท. 130 สาขาทั่วประเทศ และตามตลาดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการส่งออกต่างประเทศก็มี จีน ฮ่องกง เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

 

สุดท้าย เราอยากให้ทุกคนรอดูว่าผลของการตลาดของทั้ง “เจ้าสัว” และ “ปึงหงี่เชียง” จะเป็นอย่างไร หรือปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีก เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องติดตามกัน 

 

อ้างอิงจาก:

กรมพัฒนาการค้า, Positioning และ Bangkokbiznews

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์  #IsanEcon #เตียหงี่เฮียง #ปึงหงี่เชียง  #ของฝากโคราช  #โคราช #นครราชสีมา

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top