อุบลราชธานี เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย ทั้งยังเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศ โดยเป็นจังหวัดแรกที่ได้เห็นดวงอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
จังหวัดอุบลราชธานีมีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน อยู่ที่ 15,774 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน จำนวน 1,869,806 คน
ในปี 2564 จังหวัดอุบลราชธานีมีขนาดเศรษฐกิจของจังหวัด อยู่ที่ 135,617 ล้านบาท และรายได้ต่อหัวของจังหวัดอยู่ที่ 78,275 บาท
โครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ SME
– ภาคการค้า คิดเป็น 42% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ ร้านขายของชำ อยู่ที่ 11,727 ราย
– ภาคการบริการ คิดเป็น 32% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร อยู่ที่ 6,163 ราย
– ภาคการผลิต คิดเป็น 23% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การสีข้าว อยู่ที่ 4,929 ราย
– ภาคการเกษตร คิดเป็น 3% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ อยู่ที่ 597 ราย
ตัวอย่างบริษัทใหญ่
1. บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) รายได้รวมปี 2565 = 31,560 ล้านบาท
2. บริษัท ยิ่งยง มินิมาร์ท จำกัด รายได้รวมปี 2565 = 5,984 ล้านบาท
3. บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด รายได้รวมปี 2565 = 4,828 ล้านบาท
ตัวอย่างโครงการใหญ่
1. นิคมอุตสาหกรรม อุบลราชธานี
บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง เสนอแผนร่วมดำเนินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งถือว่าสอดรับกับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องพัฒนาสังคม พื้นที่ และยังเป็นฐานการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำลงจะสามารถแข่งขันในตลาด CLMV และช่วยให้เกิดการสร้างงานคนในท้องถิ่น ได้กว่า 20,000 อัตราในภาคอีสาน
2. สะพานไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน)
สะพานความยาว 1.02 กิโลเมตร จะเชื่อมทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ในเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวันของ สปป.ลาว กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2112 ในอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี โดยสะพานแห่งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน และทำหน้าที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจสำหรับทั้งภูมิภาคด้วย เพราะสะพานแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเชื่อมภาคตะวันออกของไทยกับทางตอนใต้ของลาว แต่ยังจะเชื่อมโยงไปยังเวียดนามด้วย
3. Hydro-Floating Solar Hybrid เขื่อนสิรินธร
เพื่อสนองนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนภายในประเทศ โดยสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและภูมิภาคที่สูงขึ้น ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร
อ้างอิงจาก:
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
– สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
– กระทรวงเจ้าของสังกัดหน่วยงานเจ้าของโครงการ