ราชาผลไม้ไทยในดินแดนอีสาน ทุเรียนอีสาน ความแตกต่างของแต่ละจังหวัดมีอิหยังแหน่ ?

ราชาผลไม้ไทยในดินแดนอีสาน ทุเรียนอีสาน

ความแตกต่างของแต่ละจังหวัดมีอิหยังแหน่ ?

 

ทุเรียนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” (King of fruits) ด้วยรสชาติที่หวาน มัน และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ (บางส่วน) หลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนี้ เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากพืชไร่หันมาเพาะปลูกพืชสวนกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะของตนเอง 

 

ปัจจุบัน จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมีชื่อเสียง ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ค้า ในด้านของคุณภาพและความปลอดภัย มีบริเวณที่เพาะปลูกพื้นที่ภูเขาไฟ เป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ มีธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูง

 

ปี 2564 มีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ 8,404 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 3,479 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 4,213 ตัน/ปี โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 1,220 ราย ด้านต้นทุนการผลิต เฉลี่ย 18,430 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5) เกษตรกรจะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 204,000 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 185,570 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยอยู่ที่ 160 – 180 บาท/กิโลกรัม

 

“ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” เป็นทุเรียนอีกหนึ่งอันที่ได้รับการการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  เนื่องจากในพื้นที่ของปากช่อง มีชุดดินที่เป็นดินภูเขาของดงพญาเย็น ซึ่งมีลักษณะเป็นธาตุอาหารเฉพาะ ส่งเสริมให้การปลูกทุเรียน ประกอบกับในเรื่องของ โอโซนต่างๆ และน้ำ ทำให้เหมาะแก่การผลิตทุเรียนอีกด้วย

 

“ทุเรียนเสิงสาง” ตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียน มีการปลูกมานานเกือบ 10 ปี ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเสิงสางที่มี ความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพดิน อากาศ และน้ำ ทำให้ผลไม้พืชผัก ที่ปลูกในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะทุเรียน มีพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือหวานมัน เนื้อละเอียดเป็นครีม และที่สำคัญคือกลิ่นไม่แรง

 

“ทุเรียนโอโซน” ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ นั้นเน้นการรวมกลุ่มการผลิต และให้เกษตรกรเป็นผู้บริหารจัดการแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิต แปรรูปและการตลาด เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูง และคุ้มค่า โดยในปี 2565 นี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับรองมาตรฐาน GAP ในนามเกษตรแปลงใหญ่

 

“ทุเรียนเมืองช้าง” เริ่มมีเกษตรกรปลูกทุเรียนครั้งแรกในพื้นที่อำเภอบัวเชดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ 13 อำเภอ ส่วนใหญ่จะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ก้านยาว ซึ่งทุเรียนเมืองช้างของจังหวัดสุรินทร์จะมีเอกลักษณ์สำคัญคือ “สีนวลดั่งงาช้าง รสสัมผัสหอมเย็น หวานละมุน”

 

“ทุเรียนน้ำแร่” อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งได้มีการปลูกพืชและไม้ผลนานาชนิด และมีลักษณะพิเศษคือมีสายน้ำแร่ไหลผ่าน โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 200 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1,165 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตจำนวน 152 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศที่มีอัตลักษณ์ด้านธรณีวิทยา และการใช้น้ำแร่ธรรมชาติที่มาจากน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเดิมในการรดหล่อเลี้ยงต้นทุเรียนนั่นเอง

 

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา, ฐานเศรษฐกิจ

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่ 

Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/ 

Website : https://isaninsight.kku.ac.th 

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UC4Po8uZ4nMRHJCoORyg9PTw 

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #สินค้าGI #นครราชสีมา #ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ #ทุเรียนเสิงสาง

#ศรีสะเกษ #ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ #ทุเรียนโอโซน #ชัยภูมิ #ทุเรียนเมืองช้าง #สุรินทร์ #ทุเรียนน้ำแร่ #บุรีรัมย์

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top