ชวนเบิ่ง ศึกอาณาจักรนมวัวเจ้าดังระดับประเทศ

ถ้าถามว่าแบรนด์นมวัวในประเทศไทยแบรนด์ไหนที่คนไทยให้เป็นแบรนด์ที่สุดยอดบ้าง ในนั้นต้องมี “ฟาร์มโชคชัย” และ “แดรี่โฮม” อยู่ด้วย แต่ก่อนที่ทั้ง 2 จะกลายมาเป็นฟาร์มโคนมที่ใหญ่ระดับประเทศ มีที่มาที่ไปเป็นยังไงบ้าง ISAN Insight & Outlook สิเว้าสู่กันฟัง

เริ่มต้นที่ “ฟาร์มโชคชัย”

ฟาร์มโชคชัยก่อตั้งในปี 2500 โดย คุณโชคชัย บูลกุล ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา คุณโชคชัย เป็นผู้ที่ชื่นชอบวิถีชีวิตแบบคาวบอยมาตั้งแต่เด็กและใฝ่ฝันจะเห็นฝูงโคตัวใหญ่ พร้อมกับเห็นฝูงม้าที่มีคาวบอยขี่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกนั้นคุณโชคชัยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จนในปี 2512 บริษัทได้บุกเบิกกิจการฟาร์มโคเนื้อ

จนถึงปี 2519 ฟาร์มโชคชัยประสบปัญหาการผลิต ทำให้กิจการต้องผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจโคนม จนได้สร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขึ้น

ในช่วงปี 2535 โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเจอวิกฤตอีกครั้ง จนกลุ่มฟาร์มโชคชัยมีหนี้สินกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ต้องตัดใจขายธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์นมออกไปเพื่อนำเงินมาชำระหนี้สินในปี 2537

โดยคงไว้แต่เพียงธุรกิจหลักคือ ฟาร์มโคนม

ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทางคุณโชค บูลกุล ลูกชายของคุณโชคชัย บูลกุล ได้เข้ามาบริหารงานต่อจากคุณพ่อ คุณโชคเข้ามาทำการปฏิรูประบบจัดการของฟาร์มโชคชัย โดยการพยายามสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มฟาร์มโชคชัยผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า

ปัจจุบัน ฟาร์มโชคชัย ทำธุรกิจลักษณะการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีกิจกรรมสันทนาการ มีร้านอาหารและที่พักให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละ 240,000 คน และนับเป็นฟาร์มโคนมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ มีแม่พันธุ์โคนมถึง 3,000 ตัว

ในขณะที่ “แดรี่ โฮม”

คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น เคยเป็นนักวิชาการสอนปรับปรุงพันธุ์โคนม ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และเคยทำงานอยู่ที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านฟาร์มโคนมมายาวนาน 10 กว่าปี กระทั่งปี 2535 เขาลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างฝันให้เป็นจริง นั่นคือ อาณาจักรฟาร์มโคนมออร์แกนิก

ปี 2542 แดรี่โฮม ถือกำเนิดขึ้นด้วยการจำหน่ายนมในขวดแก้ว น้ำนมที่ใช้เป็นนมออร์แกนิก ซื้อจากฟาร์มโคนมที่รู้จักกันให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ แต่ละวันรับนมเพียง 10 ลิตร จากนั้นขยับเพิ่มเป็น 100 ลิตร หลังกระแสการตอบรับดี ส่งเสริมเกษตรกรหน้าใหม่ให้เลี้ยงวัวออร์แกนิก เพราะนอกจากประหยัดต้นทุน น้ำนมยังขายได้ราคาสูงกว่าตลาดประมาณ 20%

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของ “แดรี่ โฮม” คือใน 2548 ประเทศไทยประกาศเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA : Free Trade Area) กับนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย และจะมีผลบังคับใช้ใน 2568 เมื่อถึงตอนนั้นนมสัญชาติไทยจะเหลือน้อยมาก และเกษตรกรไทยจะเริ่มลำบาก เพราะเราสามารถนำเข้านมจากต่างประเทศได้อย่างเสรี

ทำให้เขาต้องเร่งพัฒนามาตรฐานออร์แกนิกของไทยร่วมกับภาครัฐ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้การรับรองให้เป็นฟาร์มโคนมออร์แกนิกแห่งแรกในประเทศไทย และประกาศว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ้างอิงจาก:

– เว็บไซต์ของบริษัท

– ลงทุนแมน

– มติชน เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top