“ร้อยธานี เบฟเวอเรจ ป๊าดโธ” – ร้อยเอ็ด
ความใฝ่ฝันของคุณยายในวัยเด็ก ที่ได้รับสูตรสาโทต้นตำรับถ่ายทอดมาถึงรุ่นที่ 3 สูตรการทำสาโท รวมเกือบ 100 ปี ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น คุณยายเล่าว่า ในสมัยก่อนมีการลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว จะทำสาโทให้ญาติพี่น้องได้ชิมกัน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มสาโท ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งวัตถุดิบหลักในการผลิตสาโทมาจากข้าวเหนียวในท้องถิ่นของตัวเอง สามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฏหมายได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวในท้องถิ่นได้
“ไร่ฟ้าเปลี่ยนสี เหล้าเตยหอม” – ชัยภูมิ
เหล้าเตยหอม จากไร่ฟ้าเปลี่ยนสีเป็นสุราชุมชนของชัยภูมิ เหล้าตัวนี้ผลิตจากข้าวเหนียว โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากป่าภูเขียว กลั่นผสมกับใบเตยหอม สาเหตุที่เริ่มทำเหล้าตัวนี้เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนชอบดื่มสุรา ดื่มทุกวันไม่เคยเว้น ซึ่งเราไม่สามารถไปห้ามแกได้ ดังนั้นก็เลยมีความคิดว่าในเมื่อเราไม่สามารถห้ามให้ดื่มได้ ก็ผลิตเหล้าให้ดื่มซะเลย อย่างน้อยก็สามารถกำหนดวัตถุดิบสมุนไพร และกระบวนการผลิต
“The Spirit of Chaiyaphum” – ชัยภูมิ
แบรนด์นี้เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2564 จากฝีมือช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศสที่มาพบรักกับสาวชัยภูมิที่เกาะสมุย เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วว่าจะมาอยู่ที่ไทย คุณกวางได้เสนอว่าตัวเองมีไร่อ้อยแต่ไม่รู้จะทำไรดี คุณณองหนุ่มฝรั่งเศสผู้ชื่นชอบในการจิบสุราอยู่แล้วจึงเกิดไอเดียในการทำเหล้ารัมจากอ้อย จากที่เป็นแค่นักดื่ม เขาได้ใช้เวลาสองปีในการศึกษาลองผิดลองถูกจนได้เหล้ารัมตัวนี้ขึ้นมา เหล้าตัวนี้ใช้เวลาหมักมากกว่าปกติ เพราะใช้ยีสต์จากธรรมชาติที่ติดมากับลำอ้อย
“Thai Sato – Satom Organic Farm : Surin” – สุรินทร์
ข้าวที่เหลือจากการขาย คุณสุแทน สุขจิตรได้นำมาผลิตสุราแช่พื้นเมือง เรียกว่า สาโท เพื่อนำเสนอเสน่ห์ของข้าวพื้นเมือง ซึ่งสาโทของวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิก ฟาร์ม นี้มาทั้งในรูปแบบของสาโทโบราณ รสชาติหวานซ่าสดชื่น และฟิวชั่นสาโท ที่หยิบเอาเทคนิคการทำไวน์องุ่นมาประยุกต์เข้ากับการทำสาโทโบราณ นอกจากจะเก็บไว้ได้นานกว่าแล้วยังมีรสชาติหลากหลายที่ทำมาจากข้าวนานาสายพันธุ์ เช่น ระรื่น ทำจากข้าวเหนียวแดง จุติ ทำจากข้าวเหนียวดำ และ เดอะ แบล็ค จัสมิน ทำจากข้าวมะลินิลสุรินทร์ รวมถึงไวน์ผลไม้ที่หมักจากมะม่วงกะล่อนและกล้วย
“เหล้าอุ” – นครพนม
เหล้าอุ เป็นเครื่องดื่มมึนเมาที่มีรสชาติหวานกลมกล่อม ในสมัยก่อนถือเป็นเครื่องดื่มที่ชาวผู้ไทยหรือภูไท ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม มักจะทำไว้เพื่อเลี้ยงสังสรรค์ในงานบุญหรือนำมาต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เครื่องดื่มชนิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งที่คนทั่วไปอาจรู้จักในชื่อ ‘เหล้าโท’ หรือ ‘สาโท’ การหมักเหล้าอุ สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีในพื้นที่อำเภอเรณูนคร จึงไม่แปลกอะไรที่ภายหลังเหล้าอุจะกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอเรณู และเป็นอีกหนึ่งของฝากของดีประจำจังหวัดนครพนมอีกด้วย โดยพื้นฐานแล้วส่วนประกอบหลักของเหล้าอุคือข้าวเหนียวนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– เว็บไซต์ของบริษัท
– ประชาชนเบียร์