ซอมเบิ่ง 6  เทรนด์นวัตกรรมเกษตร จาก Startup ไทย มีอิหยังแหน่ ? 

ซอมเบิ่ง 6 

เทรนด์นวัตกรรมเกษตร จาก Startup ไทย มีอิหยังแหน่ ? 

 

เทรนด์นวัตกรรมเกษตร หวังสร้างผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน ทุ่นแรง สร้างตลาด เปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่ามุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การทำเกษตรกรรมผ่านหลากหลายโครงการ 

สำหรับเทรนด์ทางด้านนวัตกรรมการเกษตรที่น่าสนใจในปัจจุบันจาก Startup ไทย มี 6 เทรนด์ ประกอบด้วย 

 

  1. การเกษตรดิจิทัล 

การจัดการฟาร์มด้วยเซนเซอร์ และระบบไอโอที ถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชแต่ละชนิดมาศึกษา เพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต การป้องกันโรค ความเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ร่วมกับการพัฒนาเซนเซอร์และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เช่น

FarmConnect Asia ระบบควบคุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยในแปลงปลูกเมลอนกลางแจ้งให้มีความแม่นยำและเที่ยงตรงด้วยเทคโนโลยี IoT Fertigation ช่วยเพิ่มผลผลิตคุณภาพสูงทั้งเกรดเอและเกรดพรีเมียมได้ตรงตามความต้องการผู้บริโภค อีกทั้งได้พัฒนาระบบ AI จากข้อมูลการปลูกเมลอน เพื่อให้เกิดการทำเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น

เมอร์ลิเนียม ฟาร์ม ระบบเกษตรอัจฉริยะที่สื่อสารข้อมูลไร้สายด้วยเทคโนโลยีผลิตพลังงานในตัวด้วยแสงความเข้มต่ำ แก้ปัญหาความยุ่งยากของสมาร์ทฟาร์มแบบเดิมไปโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องมีสายไฟ แดดน้อยก็ทำงานได้

 

  1. เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติ

เช่น การพ่นยาพ่นปุ๋ย การหว่านเมล็ด การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรายแปลงเพื่อทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น และระบบอัตโนมัติที่ช่วยผ่อนแรงการทำงานให้เกษตรกร เช่น

Tiger Drone โดรนสัญชาติไทยที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ใช้งานง่ายด้วยเมนูภาษาไทย มีระบบวางแผนเส้นทางการบินที่แม่นยำสูงและปลอดภัยทุกพื้นที่ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานเพื่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ เช่น โหมดโชยรวง ที่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไม่เสียหายจากการบินโดรน โหมดกันข้าวไหม้ ที่ช่วยให้การฉีดพ่นเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอไม่มากเกินไป พร้อมการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและปลอดภัย

Rimbotics เรือรดน้ำไร้คนขับ ด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มเติมของเรือรดน้ำชาวสวนที่มีอยู่ ทำหน้าที่ควบคุมเรือรดน้ำแทนคน การตรวจจับร่องน้ำ สัญญาณที่ได้จากเซนเซอร์ส่งไปยังหน่วยประมวลผล และส่งไปควบคุมใบพัดให้หมุนทางซ้าย-ขวา เพื่อควบคุมหัวเรือให้อยู่กลางร่องน้ำเสมอ และควบคุมการเลี้ยวเมื่อเจอทางแยกของร่องน้ำ รวมทั้งสามารถตั้งค่าจำนวนร่องน้ำที่ต้องการรดได้ และเมื่อครบจำนวนตามกำหนดจะสั่งเครื่องยนต์ให้หยุดทำงานได้

 

  1. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อพัฒนากระบวนการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูง เช่น พันธุ์พืชทนโรค สารชีวภาพกำจัดโรค ปุ๋ยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยสตาร์ตอัปในกลุ่มนี้จะเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยอย่างน้อย 4-5 ปี สำหรับเป็นฐานองค์ความรู้มาสร้างให้เกิดธุรกิจ เช่น

Siam Novas ที่ผลิตน้ำเชื้อโคคัดแยกเพศแห่งแรกของไทยด้วยกรรมวิธีการคัดเพศจากเซลล์น้ำเชื้อโดยปฏิกิริยาไซโตทอกซิคจากโมโนโคลนอลแอนติบอดี ทำให้เพิ่มอัตราการผสมติดและทำให้เกิดลูกเพศเมียได้สูงถึง 70-75%

UniFAHS พัฒนาสารเสริมชีวภาพที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อซาลโมเนลลาในลำไส้สัตว์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระบบทางเดินอาหารของไก่ เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตจากแบคเทอริโอเฟจในโรคไก่อื่นๆ เช่น โรคบิด และโรคในสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา

 

  1. การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ ที่ครอบคลุมทั้งการปลูกพืชระบบปิดโดยใช้แสงเทียม ตอบโจทย์การปลูกพืชในเมืองโดยที่ไม่ต้องรอฟ้าฝนและแสงแดด การปลูกผักที่สะอาดไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง โดยสิ่งสำคัญคือความคุ้มค่าของการลงทุน ซึ่งผู้ปลูกจำเป็นต้องเลือกกลุ่มผักและผลิตผลทางการเกษตรที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ เช่น

Distar Fresh ที่เกิดจากความต้องการผักปราศจากยาฆ่าแมลง จึงเกิดเป็นโรงงานผลิตพืชระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ทั้งการให้น้ำ ให้แสง อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ เน้นการปลูกพืชผักกินใบ พร้อมบริการจัดส่งผักที่เก็บเกี่ยวไม่เกิน 3 ชั่วโมงจากฟาร์มในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงหน้าบ้าน

noBitter แพลตฟอร์ม “ปลูก ณ จุดขาย” พร้อมส่งขายออนไลน์ โดยแปลงอาคารเก่าเป็นโรงเรือนปลูกพืชระบบปิด และปีนี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ผักเคล Low K” จากการวิจัยพัฒนาการปลูกพืชระบบปิดใช้ประโยชน์จากแสงไฟคัดเลือกความยาวคลื่นเหมาะสมเพื่อลดสารโพแทสเซียมในผัก

 

  1. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง นวัตกรรมที่ทำให้สินค้าเกษตรทั้งผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ ยังคงรสชาติและความสดใหม่ไว้ โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุ กระบวนการไม่ใช้สารเคมี และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เช่น

เอ็มเอซี ระบบล้างผักและผลไม้เพื่อลดการตกค้างของยาฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีออกซิไดส์ขั้นสูง เพื่อสลายโครงสร้างโมเลกุลยาฆ่าแมลงและโครงสร้างเซลล์จุลินทรีย์ได้เป็นสารประกอบคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ทำให้สินค้าผักและผลไม้มีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษา และการลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิต

อีเดน สารเคลือบเนื้อผลไม้บริโภคได้ ผลิตสารสกัดจากธรรมชาติ ช่วยยืดอายุ รักษาความสด และชะลอการเสื่อมสภาพของผลไม้ตัดแต่ง ผักผลไม้สด เช่น ทุเรียน มะม่วง หน่อไม้ฝรั่ง ตะไคร้

 

  1. บริการทางธุรกิจเกษตร แพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ให้บริการด้านการเกษตร รวมถึงบริการแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยตลาดหรือร้านค้าที่มีบริการจำหน่ายของสดออนไลน์ จะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าสดและสินค้าแปรรูปสำหรับขายให้กับผู้บริโภค กลุ่มธุรกิจเกษตร หรืออุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีการแข่งขันด้านราคาบวกกับค่าขนส่งที่สูง ทำให้สตาร์ตอัปเกษตรในกลุ่มนี้ต้องหารูปแบบธุรกิจที่จะก้าวผ่านปัญหาไปให้ได้ เช่น

บอร์น ไทยแลนด์ แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน กับภารกิจช่วยยกระดับ สร้างยอดขายและรายได้ให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่น สินค้าชุมชนอย่างมีระบบ เข้าใจทั้งชุมชนและความต้องการตลาดที่จะเชื่อมสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภคอย่างตรงความต้องการ

“ส่งสด” ระบบบริการจัดการขายสินค้าทางการเกษตรสู่ผู้บริโภคและธุรกิจ โดยนำสินค้าคุณภาพดีจากตลาดสดที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรผ่านผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพสู่ผู้บริโภคและธุรกิจ สร้างความมั่นใจในคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม

 

อ้างอิงจาก: 

NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่ 

Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/ 

Website : https://isaninsight.kku.ac.th 

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #นวัตกรรม #Startup #เกษตร #เกษตรกร #NIA #เกษตรดิจิทัล

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top