นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน “ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค” จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร
โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่
1.ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ
2. มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก
3.ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี
จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน
“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด
อ้างอิงจาก:
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่
Website : https://isaninsight.kku.ac.th