ปังหลาย !
กระทรวงวัฒนธรรม จัดใหญ่มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ
ณ มหาสารคาม ช็อปของดีถิ่นอีสาน
มหาสารคาม – กระทรวงวัฒนธรรม ประเดิมจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถี ของดีอีสาน ชวนเที่ยวมหาสารคาม กราบบูชาสักการะพระบรมธาตุนาดูน ช้อปของดีถิ่นอีสานตลาดวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สนองโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล ดัน “ Soft Power ” เป็นจุดขาย
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ณ พระบรมธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถี ของดีอีสาน” ประจำปี 2565 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ผู้บริหาร วธ. วัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุนาดูน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม เครือข่ายวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน
กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” เพื่อส่งเสริมความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กระทรวงฯ จึงจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขึ้น ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค
โดยครั้งแรกจัดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถี ของดีอีสาน” ระหว่างวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2565 ณ พระบรมธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ยกระดับพระบรมธาตุนาดูน เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และตามรอยอารยธรรมนครจำปาศรี เปิดพื้นที่ให้ ชาวภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม การกราบบูชาสักการะพระบรมธาตุนาดูน ชมการฟ้อนรำจำปาศรี จำนวน 1,000 คน จัดนิทรรศการมหกรรมหุ่นกระติบและหุ่นฟางอย่างยิ่งใหญ่ นิทรรศการแสดงศิลปะ พิธียกอ้อ ยอครู บายศรีสูตรขวัญครูศิลปินอีสาน การเสวนาทางวิชาการ ตลาดวัฒนธรรม การสาธิตผลิตภัณฑ์ และบริการทางวัฒนธรรม CCPOT และ 5F การสาธิตวิถีถิ่น วิถีไทย จาก 20 จังหวัด ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น
นอกจากนี้ มีการแสดงแบบผ้าไทย ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล มหาไหมเมืองคาม มรดกภูมิปัญญาสู่สากล การแสดงวงออเคสตร้า โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมศิลปินพื้นบ้านมากมาย
ส่งผลให้เพิ่มโอกาสต่อยอดให้เกิดคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน เครือข่ายทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมทั้ง เป็นการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางตลอดจนเสริมฐานรากทางวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง และยกระดับการจัดงานในระดับท้องถิ่นให้เป็นงานระดับชาติ
ทั้งนี้ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ภาคเหนือ “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทย สานสายใยชาติพันธุ์” วันที่ 16 – 20 มกราคม 2566 ณ บริเวณหาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และอาคารพาสาน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ต่อด้วยภาคกลางและภาคตะวันออก “ดนตรีสานศิลป์ สองถิ่นวัฒนธรรม” วันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2566 ณ บริเวณวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และปิดท้ายที่ภาคใต้ “สานศิลป์ แดนดินใต้ เทิดไท้องค์ราชัน” วันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.สุราษฎร์ธานี อีกด้วย
อ้างอิงจาก:
ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/local/detail/9650000121965
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #กระทรวงวัฒนธรรม #มหาสารคาม #พระบรมธาตุนาดูน