“สตาร์บัคส์แห่งภาคอีสาน” จะเป็นของใครไปไม่ได้ นอกจาก “ร้านกาแฟสัญชาติไทย Class Café” ขวัญใจชาวอีสาน จากร้านกาแฟที่มีขนาดพื้นที่เล็ก ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ทำยอดขายได้วันละไม่กี่สิบแก้ว ผ่านมากว่า 8 ปี Class Café ประสบความสำเร็จอย่างมาก พร้อมขึ้นแท่นร้านกาแฟขวัญใจ Youth Generation ที่มีดีไซน์เฉพาะตัว เรียบง่าย ทันสมัย และมีความเป็น Co-working Space ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา และคนทำงานฟรีแลนซ์
จุดเริ่มต้น Class Café คุณกอล์ฟ มารุต ชุ่มขุนทด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ Class Café เคยทำงานในสายเทคโนโลยีมาตลอด แต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ธุรกิจร้านกาแฟยังไม่เป็นที่นิยมมากในเมืองไทย ทำให้เริ่มมองเห็นช่องว่างทางการตลาดเลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำในบริษัท แล้วชักชวนญาติอีก 2 ท่าน มาทำร้านกาแฟด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ สร้างคาแรกเตอร์ของร้านกาแฟที่สมบูรณ์แบบและแตกต่างจากร้านอื่น โดยผมรับหน้าที่ดูแลเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 ท่าน ดูแลเรื่องอาหาร และวัตถุดิบ ปัจจุบันผมและร่วมผู้ก่อตั้งบริษัทถือหุ้นรวมกันประมาณ 75%
คุณกอล์ฟ เล่าว่า ในช่วงปีแรกที่มียอดขายเยอะ มีการวางแผนเปิดสาขาใหม่ สัปดาห์ละ 1 สาขา เพราะอยากมีสาขาให้มากที่สุด เคยวางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องมีสาขา 50-100 สาขา ภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2564) พร้อมกับวางแผนระยะยาวว่า จะต้องสร้างเชนร้านกาแฟใหญ่ ๆ
แต่เมื่อเกิด Covid-19 ทำให้ต้องกลับมาทบทวนโมเดลธุรกิจกันใหม่ เพราะธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคครั้งใหญ่ ในช่วงเกิด Covid-19 ในเมื่อ Class Café ทำธุรกิจแบบ Open Coffee Platform ฉะนั้นอาจไม่จำเป็นต้องขยายสาขาใหม่ถี่ ๆ เหมือนแต่ก่อน แต่ควรจะหันมาใช้ประโยชน์จากการมี Platform ของตัวเองมากกว่า เช่น ไม่จำกัดตัวอยู่เพียงเครื่องดื่มกาแฟ แต่กระจายตัวไปสู่สินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำผลไม้, โยเกิร์ต, เบเกอรี่, หูฟัง, ลูวิ่ง, โลชั่นทาผิวที่ทำมาจากชาเขียว รวมถึงการเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ด้วยการขายโปรดักส์ของเราให้กับคู่แข่ง เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าเร็วขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบัน Class Café มีทั้งหมด 21 สาขา กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ตามต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ในส่วนของต่างจังหวัดจะเน้นเปิดสาขาตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูง เช่น นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี, บุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนในกรุงเทพฯ จะเน้นเปิดตามมหาวิทยาลัยรัฐต่าง ๆ
ก่อนเกิดCovid-19 ร้าน Class Café มีสาขามากถึง 28 แห่ง แต่หลังเกิดวิกฤติ ปิด 14 สาขาในกรุงเทพ ภายใน 16 วัน เพื่อลดต้นทุน วิกฤติรอบนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายใหม่ จากเดิมต้องรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาใช้บริการที่สาขา เปลี่ยนเป็นออกไปหาลูกค้าถึงหน้าบ้าน ที่สำคัญยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของแพคเกจจิ้งให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน จากเน้นขายเป็น “แก้ว” ก็ปรับมาเป็น “ขวด” พร้อมกับคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้รสชาติของเครื่องดื่มไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่ได้ยาวนานมากขึ้นในตู้เย็นของลูกค้า ตอนนี้เราทำได้ยาวนานที่สุดกว่า 30 วัน
เป้าหมายจากนี้ของ Class Café คือ ขยายสาขาใหม่ ๆ เน้นตามมหาวิทยาลัยรัฐต่าง ๆ ขนาดพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร หลังจากสาขา Class Café ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากน้อง ๆ นักศึกษา
คุณมารุต ชุ่มขุนทด ทิ้งท้ายว่า “การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ หากเราเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายอาจต้องไปทำอีกสิ่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลบางประการ อยากให้รู้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ที่สำคัญห้ามท้อแท้ และต้องไม่ลืมที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อออกมาสู้กับคนอื่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ”
สุดท้ายนี้ ในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องทำคนเดียวเสมอไป แต่สามารถหาพาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Collaboration วิธีนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีโฟกัสทางธุรกิจในสิ่งที่ตนเองถนัด ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่มีความถนัดได้ แต่การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือทุกความร่วมมือจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของแบรนด์ (Brand Positioning) ไว้ให้อยู่คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิงจาก:
https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/classcafe/
https://data.creden.co/company/general/0413562002358
https://www.smeone.info/posts/view/4482