วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดูเส้นทาง “ขอนแก่นแหอวน” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร??
จุดเริ่มต้นจากร้านโชห่วยในรุ่นพ่อ ที่ช่วยกันพัฒนาจากพี่น้องสามคนของตระกูล ‘เสรีโยธิน’ จนขยายกิจการเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายแห อวน ตาข่าย และอุปกรณ์การประมง การเกษตร ภายใต้แบรนด์สินค้าตรา ‘เรือใบ’ หรือ SHIP ในนามบริษัทขอนแก่นแหอวน จำกัด หรือ KKF ที่ผงาดสู่ระดับโลกได้สำเร็จ จากแนวคิด Family Business ของ คุณบวร เสรีโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจแหอวนระดับโลกจากสามพี่น้องตระกูลเสรีโยธิน
คุณบวร เล่าว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยเริ่มจากที่อยากพัฒนาบ้านเกิดตนเอง ซึ่งเป็นการทำธุรกิจที่เริ่มจากรับสินค้าจากชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่น ที่ถักแหอวนด้วยมือ แล้วส่งไปขายต่อ จากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคสั่งสินค้า semi product จากญี่ปุ่น ก็มีการสั่งสินค้านำมาแปรรูปใส่ตะกั่วใส่ทุ่นเพิ่มทำให้อวนสำเร็จรูปมากขึ้น แล้วส่งขายไปทั่วภาคอีสาน เมื่อมีปริมาณการซื้อเพิ่มมากขึ้น จึงขยายตลาดไปภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
จุดพลิกผันด้านกำแพงภาษี ก่อนแจ้งเกิดระดับโลก
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเสรีโยธินต้องพัฒนาสินค้าขึ้นเอง ตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นใย ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าเส้นใย ทำให้ต้นทุนมีราคาที่สูงขึ้น จนหันมาตั้งโรงงานและเป็นผู้ผลิตแทนการนำเข้า โดยเริ่มจากการซื้อเครื่องจักรมือสองของไต้หวัน 10 เครื่อง ปัจจุบันยังมีการปรับใช้ Know-how ต่างๆ เข้าไปเพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นระบบออโตเมชั่น ทำให้การใช้แรงงานคนลดน้อยลง
วิกฤตสร้างโอกาส ขยายตลาดไม่หยุดยั้ง
ปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ต้องมีการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อขยายกิจการ จึงเป็นที่มาทำให้ขอนแก่นแหอวนหันไปบุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อนำเงินสกุลต่างประเทศมาชดเชยกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนั้น
หลังจากที่เติบโตมาได้ระดับหนึ่ง ทำให้มองเห็นช่องทางโอกาสในการเติบโตที่มากขึ้น จึงค่อยๆ ขยายโรงงานเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 6 แห่ง ประเทศจีน 2 แห่ง และประเทศเมียนมา 2 แห่ง ซึ่งกว่า 60% กระจายไปในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนอีก 40% กระจายอยู่ในประเทศไทย
สร้างจุดแข็งด้วยกลยุทธ์ Holding Company