อุดรธานี – กงสุลใหญ่จีนลงพื้นที่อุดรธานี สำรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาลจีน เพื่อใช้เป็นจุดพักก่อนขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนและจีนมาไทย เผยล่าสุดผู้ประกอบการจากภาคใต้ก็สนใจขนสินค้าอาหารทะเลและผลไม้มาพักเพื่อส่งออกไปจีน
นายเหลี้ยวจวิ้นหยุน กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดขอนแก่น และคณะได้เดินทางมาดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และรับทราบความคืบหน้าการสร้างนิคมฯ โดยมีนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานฯ และนายพิสิษฐ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ รวมถึงอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล
การเข้าเยี่ยมชมโครงการฯ ครั้งนี้ ทางคณะได้มารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลดีผลเสียผลกระทบต่อการเปิดรถไฟจีน-ลาวที่มีต่อจังหวัดอุดรธานี จะดำเนินการอย่างไรในการเชื่อมโยงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการค้าและการขนส่งเพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เตรียมตัวอย่างไรกับการใช้ประโยชน์จากการเปิดรถไฟสายจีน-ไทย
นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า การเดินทางลงมาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีทางกงสุลต้องการข้อมูลของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีว่าตอนนี้ทางนิคมมีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน และมารับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโลจิสติกการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนและจีนมาไทย จากนั้นทางกงสุลก็จะไปร่วมประชุมและเสนอกับทางรัฐบาลต่อไป
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานียังไม่คิดขนส่งทางรถไฟ แต่นิคมจะแก้ปัญหาโดยใช้รถบรรทุกขนจากนิคมขนสินค้าไปยังเวียงจันทน์ โดยเราจะยกตู้สินค้าไปวางที่จุดขนถ่ายที่ สปป.ลาว เพราะระยะทางจากนิคมฯ ไปที่เวียงจันทน์ประมาณ 70 กิโลเมตร และสินค้าจากทางจีนที่จะมาไทยสามารถยกใส่รถบรรทุกกลับมาได้ ขณะนี้ทางนิคมฯ ได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ไว้รองรับ
ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทางภาคใต้เดินทางมาดูพื้นที่นิคมฯ แล้วหลายราย คาดว่าจะนำสินค้าจากภาคใต้จำพวกผลไม้ อาหารทะเล มาจัดเก็บมาพักไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ก่อนจะลำเลียงส่งออกไปยังประเทศจีน และเร็วๆ นี้ทางหอการค้าภาคเหนือก็จะนำผู้ประกอบการเดินทางมาดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเช่นกัน
โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกใช้พื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ และเฟส 2 อีกราว 1,000 ไร่ตามแผนงานต้องสร้างแวร์เฮ้าส์ทั้งหมด 25 หลัง ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อให้โรงงานต่าง ๆ เช่าเพื่อเก็บสินค้า
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนอุตสาหกรรม และส่วนโลจิสติกส์ โดยในส่วนของโลจิสติกส์ปาร์กจะประกอบด้วย สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD เขตปลอดอากร (FREE ZONE) คลังสินค้า ซึ่ง ICD จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในภาคอีสานตอนบนในการที่จะส่งสินค้าออกต่างประเทศหรือนำของเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่วนนี้มีความจำเป็นเกี่ยวกับศุลกากรในเรื่องนำเข้าและส่งออก จุดนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าให้นำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เคยระบุว่าอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีใน 4 เรื่อง คือ ปรับปรุงพัฒนาบริเวณทางแยกเข้านิคมให้สามารถอำนวยความสะดวกต่อการวิ่งของยวดยานพาหนะทุกประเภท, การลากรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นิคมฯ รองรับการขนส่งสินค้า, NEC สิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ และขอสิทธิพิเศษเขตเศรษฐกิจชายแดนจากหนองคายให้ครอบคลุมมาถึงอุดรธานี
อ้างอิงจาก: