พามาเบิ่ง ราคาน้ำมันแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน เป็นหยังคือบ่ส่ำกัน

หลังจากที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวขึ้นไม่มีหยุดไปแล้วหลายครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา “ราคาน้ำมัน” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในช่วงนี้

วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดูสาเหตุที่ราคาน้ำมันแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันและโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยทุก 1 ลิตรประกอบด้วยอะไรบ้าง

สาเหตุหลักที่ราคาน้ำมันแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันนั้น เนื่องจากมีค่าขนส่งน้ำมัน จังหวัดที่มีระยะทางที่ไกลและมีพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน ทำให้มีค่าขนส่งที่แพงกว่าจังหวัดอื่น และมาจากภาษีบำรุงท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสาเหุต คือ สถานีบริการน้ำมันแต่ละแห่งมีข้อตกลงที่แตกต่างกันไปกับแต่ละบริษัทเจ้าของยี่ห้อน้ำมันที่ส่งมาให้ขาย ส่งผลเกี่ยวเนื่องกับต้นทุนของน้ำมันสำเร็จรูปที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง ซึ่งหมายความว่าจะมีระยะห่างของเวลานับจากวันที่โรงกลั่นจ่ายค่าน้ำมันดิบ จนถึงวันที่ได้รับเงินจากผู้ที่รับน้ำมันสำเร็จรูปไปขาย ระยะเวลาที่ต่างนี้จึงส่งผลกับการปรับราคาน้ำมัน

โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยในน้ำมันทุก 1 ลิตรนั้น จะประกอบด้วยดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 –60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

2. ภาษีต่างๆ ( 30 –40%) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่

– ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

– ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุนต่างๆ (5 –20%) เช่น

– กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

– กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10 –18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยในปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนประกอบและปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นและลงราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันของไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งองค์ประกอบราคาน้ำมันเป็นเหมือนภาระที่ประชาชนต้องแบกรับ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้น

แนวโน้มราคาน้ำมันหลังจากนี้

ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปีหน้า เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก(โอเปก) เตรียมทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้จนถึงสิ้นปี จะมีปริมาณน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันมีปริมาณน้อย จึงจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้

อ้างอิงจาก:

https://www.thansettakij.com/economy/514130

https://www.bangkokbiznews.com/business/972384

https://www.shell.co.th/…/shell-fuels/fuel-price/faq.html

https://www.bangkokbiznews.com/business/975666

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top