ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในการเฉลิมฉลองเดือน “ไพรด์” คือ การจัดงานไพรด์นอกเหนือไปจากเมืองหลวงกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ภาคประชาชนและกลุ่ม LGBTQ+ ร่วมกันทำให้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสียงถึงความต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านสภาในวาระ 1
การเดินขบวนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในงานบางกอกนฤมิตรไพรด์ที่จัดขึ้นบนถนนสีลม จุดประกายให้ภาคประชาชนกลุ่ม LGBTQ+ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเช่นกัน จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้เคยมีงานไพรด์มาก่อน ธงสีรุ้ง กับขบวนของคนรุ่นใหม่ที่เดินไปตามถนนในเมือง และพิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในเดือน มิ.ย. มีงานไพรด์เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ยูดี ไพรด์ อุดรธานี, บุญบั้งไพรด์ ศรีสะเกษ, ซะเร็นไพรด์ สุรินทร์, อุบลฯ ไพรด์ อุบลราชธานี
ในอดีต งานประจำปีของจังหวัดล้วนเป็นงานที่ชูเอกลักษณ์และของดีประจำจังหวัด ขึ้นมาเป็นจุดขาย แต่ผู้ริเริ่มงานไพรด์ในสุรินทร์ และอุบลราชธานี หวังว่า นี่จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่กลุ่มหลากหลายทางเพศจะได้แสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+
ซะเร็นไพรด์ งานไพรด์ของชาวสุรินทร์
เบญจมินทร์ ปันสน คณะทำงาน “ซะเร็นไพรด์” ผู้จัดงานใน จ.สุรินทร์ บอกว่า กิจกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในจังหวัดต้องการอยากจะเห็นกิจกรรมเช่นนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้มีองค์กร หรือหน่วยงานไหน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นคนเริ่มต้น
กลุ่ม LGBTQ+ ที่อยู่ในธุรกิจช่างแต่งหน้า เช่าชุด ทำคลินิกเสริมความงาม ต่างร่วมสนับสนุนงานที่จัดขึ้น เพราะต้องการเห็นจากงานไพรด์ในกรุงเทพฯ และหวังให้มีงานนี้ขึ้นมาในจังหวัดของตัวเอง
นอกจากงานเดินขบวนและกิจกรรมที่เป็นสีสัน ซึ่งต้องการให้งานนี้สร้างความเข้าใจเรื่องร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ว่าให้สิทธิที่แตกต่างกันกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างไร ขณะที่พื้นที่สำคัญที่ใช้จัดงานคือ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่เคยล้อมรั้วเหล็กเอาไว้ ได้รับอนุญาตให้จัดงานของประชาชนได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นงานสำคัญ ที่ทุกคนเห็นว่าพื้นที่ศาลากลางกลางเมืองมีประโยชน์และเหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน
อุบลฯ ไพรด์ เมืองเซฟโซนของ LGBTQ+
พิทักษ์ชัย ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเป็น ผอ.กองประกวดมิสแกรนด์อุบลฯ ปีนี้ด้วย เห็นถึงศักยภาพของ จ.อุบลฯ ว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าจะจัดงานได้ยิ่งใหญ่ อีกทั้งหลายภาคส่วนก็ร่วมสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งหอการค้าจังหวัด เอกชนในพื้นที่ และเทศบาลนครอุบลราชธานี และยังมีกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการ มาร่วมด้วย โดยหลังจากการจัดงานไพรด์ในวันที่ 29 มิ.ย. แล้ว งานแห่เทียนพรรษา ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของอุบลฯ ก็จะมีการผนวกรวมขบวนพาเหรดสีรุ้งของกลุ่มหลากหลายทางเพศในอุบลฯ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
โดยอุบลราชธานีจะมีการจัดทำให้อุบลฯ เป็น “เซฟโซน” หรือพื้นที่ปลอดภัยอีกหนึ่งเมืองของประเทศไทยที่รองรับ LGBTQ+ ทั่วโลกมาเที่ยว ผ่านแคมเปญ ALL FOR YOU ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มโรงแรม ห้างร้าน ร้านอาหาร ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษ์ว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างต้อนรับ LGBTQ+ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะได้รับการปฏฺิบัติที่ไม่แบ่งแยกและปลอดภัย
ดังนั้น เป็นการผลักดันให้อุบลฯ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่รองรับ LGBTQ+ ทั่วโลกมาเที่ยว เพราะมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ชัดเจนอย่างงานแห่เทียนพรรษา ที่เที่ยวทางธรรมชาติ และมีพื้นที่สำคัญ ๆ เป็นแลนด์มาร์กหลัก ๆ หลายแห่ง”
กลุ่ม LGBTQ+ ในเชิงเศรษฐกิจ
พบว่าส่วนใหญ่ประชากรกลุ่ม LGBTQ+ มีกำลังซื้อสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา สูงถึงปีละ 917,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งานสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ครอบครัวที่แต่งงานระหว่างชาย-ชาย มีรายได้เฉลี่ยสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองมาด้วยครอบครัวที่แต่งงานระหว่างหญิง-หญิง ในขณะที่ครอบครัวชาย-หญิง มีรายได้เฉลี่ยน้อยสุด โดยครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศชายด้วยกันมีรายได้สูงกว่าครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศถึง 36% ในขณะที่ครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศหญิงด้วยกันมีรายได้สูงกว่าครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศ 9.7%
ปัจจุบันหลายธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศและลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ หลายองค์กรมีนโยบายห้ามกีดกันความหลากหลายทางเพศ สินค้าจำนวนมากออกผลิตภัณฑ์มาเพื่อจับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า บริษัทที่มีนโยบายเปิดรับความหลากหลายทางเพศชัดเจน ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้ามากขึ้น และส่งผลดีต่อกำไรของบริษัท
ในโอกาสนี้ รัฐบาลไทยควรผลักดันให้ภาคธุรกิจยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง คุ้มครองสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ให้คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันได้รับเช่นคู่สมรสต่างเพศ ผลวิจัยชี้ว่า ยิ่งภาคธุรกิจเปิดรับความหลากหลายทางเพศ ยิ่งส่งผลดีต่อการขยายตัวทางธุรกิจ ทั้งยังส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ ในการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดตลาด LGBTQ+ โดนเน้นภาพการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ข้อมูลจาก World Tourism Organization พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวแต่ละครั้งสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 เท่า จากข้อมูลในสหรัฐฯ มูลค่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์สูงถึงปีละ 65,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยุโรปสูงถึงปีละ 50,000 ล้านยูโร