โรงงานน้ำตาลแห่งใหญ่ในภาคอีสาน ที่อยู่ในตลาดหุ้น

ประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลมีทั้งหมด 58 โรงงาน ซึ่งกระจายอยู่ตามแหล่งเพราะปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน มีจำนวนมากที่สุด เนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยมากที่สุด ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต

วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดูเส้นทางของโรงงานน้ำตาลแห่งใหญ่ที่ก่อตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอยู่ในตลาดหุ้น ว่ามีความเป็นมาอย่างไร?

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (“BRR”) เดิมชื่อ บริษัท โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง (2506) จำกัด (ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2506 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายแดง ที่จังหวัดบุรีรัมย์

โดยเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคุณวิเชียร ตั้งตรงเวชกิจ ผู้ริเริ่มปลูกอ้อยและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวสีรำ และน้ำตาลทรายดิบทั้งในและต่างประเทศ นานกว่า 5 ทศวรรษ รวมถึงการนำผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น กากอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล ต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ย และธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอ้อย และธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นธุรกิจสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ คือ มุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลักให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

ในขณะที่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) คุณชวน ชินธรรมมิตร์ ชักชวน 2 ครอบครัวนักธุรกิจ คือ ครอบครัวโตการัณยเศรษฐ์ และครอบครัวโรจนสเถียร ร่วมกันก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในปี 2488 คือ “โรงงานน้ำตาลกว้างสุ้นหลี” ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 1 กรุงเทพมหานคร และมีการก่อตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นเป็น 6 โรงงาน แต่เมื่อปี 2517 เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยมี คุณนันทา ชินธรรมมิตร์ เป็นประธาน มีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยคงไว้ซึ่งโรงงานน้ำตาลเดิม 3 แห่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการขยายและจัดตั้งบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด โดยลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่ขึ้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
คณะผู้บริหารกลุ่ม KSL เล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจน้ำตาล ประกอบกับเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าน้ำตาลในตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจึงแปรสภาพ “บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด” เป็น “บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)” ซึ่งถือเป็นบริษัทน้ำตาลแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548 ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้ชื่อย่อในกระดานหุ้นว่า “KSL”

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่ทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ บริษัทมีการขยายช่องทางการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธ์ (white sugar and refined sugar) เพื่อจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยผ่านทางช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยเริ่มจากการจำหน่ายผ่านทางห้างสรรพสินค้าแม็คโคร และจะขยายสู่ห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตอื่น

ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ถึงแม้ว่าเกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวทั้งในรูปแบบของเกษตรกรอิสระ และ Contract Farming เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ตามแต่การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ แต่เกษตรกรยังคงมีตัวเลือกอื่นซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนและจัดโซนนิ่งการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และส่งเสริมความรู้ในการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวอ้อยที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรงงาน มีแนวทาง วิธีการดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องทําการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการลงทุน โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อ้างอิงจาก:
https://www.set.or.th/…/product/stock/quote/BRR/price
https://www.set.or.th/…/product/stock/quote/KSL/price
https://www.buriramsugar.com/th/about/company-background
https://www.kslgroup.com/index.php/th/ข้อมูลองค์กร/ข้อมูลองค์กร
http://fic.nfi.or.th/foodsectordatabank-detail.php?id=23
https://d.dailynews.co.th/agriculture/341157/
https://www.buriramsugar.com/…/message-to-shareholders

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน #โรงงานน้ำตาล

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top