ชวนเบิ่ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาคอีสานที่ต้องจัดการ

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 2563 ที่ 4% แต่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 2564 จากระดับ 89.7% ในปี 2563
.
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่กับเศรษฐกิจมานาน และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในรอบนี้ เมื่อครัวเรือนมีรายได้จากการทำงานก็ต้องนำรายได้นั้นไปใช้คืนหนี้ เหลือใช้จ่ายน้อยลงทำให้การบริโภคลดลง จนส่งผลให้บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
.
อันดับภาคที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด (หน่วย : บาท)
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 217,802
2. ภาคเหนือ 206,544
3. ภาคกลาง 200,744
4. ภาคใต้ 181,449
.
เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายภาค ภาคใต้มีหนี้ครัวเรือนน้อยที่สุด ในขณะที่ภาคอีสาน มีหนี้ครัวเรือนสูงสุดกว่าทุกภาค โดยคนภาคอีสานแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 217,802 บาท
.
ครัวเรือนที่มีหนี้ในภาคอีสานส่วนใหญ่ คือ ครัวเรือนที่มีรายได้จากการเกษตร (ที่ต้องพึ่งพาสภาพดิน ฟ้า อากาศ) เงินโอนจากสมาชิกครอบครัว หรือเงินโอนภาครัฐ เป็นสัดส่วนสูงเกือบ 30% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้มีภาวะเสี่ยงขาดสภาพคล่อง เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดไม่ว่าจะเป็น ถูกให้ออกจากงาน หรือการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุในการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการก่อหนี้ที่ไม่สร้างผลตอบแทนในอนาคต
.
เมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงิน ครัวเรือนจำนวนมากต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง มีการพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต จนอาจทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินไหว และนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา
.
ดังนั้น อาจแก้ได้ด้วย การเพิ่มโอกาสให้แต่ละครัวเรือนมีการพัฒนาทักษะแรงงานเสริม เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น สร้างแรงจูงใจให้คนเพิ่มการเก็บออม และวางแผนทางการเงินเพื่อการใช้จ่ายในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงในวัยเกษียณ
.
.

ที่มา :
https://www.thansettakij.com/insights/499067
https://www.thansettakij.com/money_market/519845 http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
https://www.bot.or.th/…/Doc…/X-ray%20Regional%20Debt.pdf https://www.kasikornresearch.com/…/Household-Debt-FB-11…

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #หนี้ครัวเรือน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top