ย้อนดู มูลค่าการค้าชายแดน – ผ่านแดน ภาคอีสาน ปี 63

ปี 2563 ภาคอีสานมีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 175,400 ล้านบาท (+4.1% จากปี 2562)
.
หากแบ่งตามพื้นที่ตั้งด่านศุลกากร การค้าชายแดนภาคอีสานประมาณ 90% เป็นการค้ากับสปป.ลาว มีมูลค่าการค้า 157,100 ล้านบาท ส่วนอีก 10% เป็นการค้ากับกัมพูชา มีมูลค่า 18,300 ล้านบาท
.
โดยเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 106,500 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้ารวม 68,800 ล้านบาท
.
ทั้งนี้ ภาคอีสานได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เช่นเดียวกับปี 2563 ยังคงได้เปรียบดุลการค้ารวม 37,700 ล้านบาท (ทั้งกับสปป. ลาว และกัมพูชา) แม้เป็นการได้เปรียบดุลการค้าที่ลดลง 24.3% จากปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19
.
.
สำหรับมูลค่าการค้าผ่านแดนรวม 209,100 ล้านบาท (+25.2% จากปี 2562) ซึ่งเป็นการค้าผ่านแดนกับจีนตอนใต้ และเวียดนาม ที่มีมูลค่าการค้าผ่านแดนเป็นอันดับ 1 ของไทย
.
โดยเป็นมูลค่าการส่งออกผ่านแดนรวม 96,500 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าผ่านแดนรวม 112,600 ล้านบาท
.
น่าสนใจว่า ปี 2563 ภาคอีสานเสียเปรียบดุลการค้าผ่านแดนรวม 16,100 ล้านบาท (เสียเปรียบดุลการค้ากับจีน 44,700 ล้านบาท ได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม 28,600 ล้านบาท)
.
มุกดาหาร จังหวัดในภาคอีสานที่มีมูลค่าการค้าผ่านแดนกับจีนตอนใต้ และเวียดนามสูงที่สุด โดยมีมูลค่าการค้าผ่านแดนรวม 152,600 ล้านบาท ก็ยังเสียเปรียบดุลการค้าผ่านแดนรวม 59,800 ล้านบาท (เสียเปรียบดุลการค้ากับจีน 62,000 ล้านบาท ได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม 2,200 ล้านบาท)
.
.
อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการค้าชายแดนไทย รวมถึงภาคอีสาน ยกตัวอย่าง สะพานข้ามแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม (ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554) ที่มีส่วนสำคัญทำให้มูลค่าการขนส่งผ่านด่านศุลกากรนครพนมไปยังเวียดนาม และส่งต่อไปจีนตอนใต้เพิ่มขึ้น
.
โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หากแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างไทย-เวียดนามที่สั้นที่สุด ระยะทางเพียง 150 กิโลเมตร
.
และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขอนแก่น – หนองคาย (ระยะที่ 2) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางรางระหว่างไทย กับทางรถไฟ สปป.ลาว – จีนได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ บริเวณชายแดน ที่คาดว่าจะช่วยให้ภาคอีสานเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนน้อยลงด้วย
.
สุดท้าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในการข้ามแดนจะเอื้อประโยชน์กับผู้ค้าได้มากขึ้น หากรู้จักนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทำการค้าโดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบกับภาครัฐต้องคอยปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นโอกาสในการทำการค้าชายแดนในระยะต่อไป
.
อ้างอิงจาก : https://kku.world/ppmsu
https://kku.world/h06a7
https://kku.world/9oxbi
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #การค้าชายแดน #การค้าผ่านแดน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top