ISAN Insight สิพามาย้อนเบิ่ง เหตุการข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา เป็นมาจังได๋
.
ไทย กับกัมพูชานับว่าเป็นเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่มีพื้นที่พรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา ทำให้คนในพื้นที่ชายแดนในภาคอีสานมีการใช้วัฒนธรรมบางส่วนร่วมกันกับกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็น ด้านประเพณี ศาสนา รวมถึงสถาปัตยกรรม แต่ยุคสมัยล่าอาณานิคม ไทยได้สูญเสียดินแดนบางส่วนในกัมพูชา ณ ปัจจุบันให้กับฝรั่งเศสไป ทำให้เกิดการปิดกั้นด้านการติดต่อระหว่างประเทศของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นเวลากว่า 90 ปีที่กัมพูชาอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กัมพูชาได้ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส และได้ยึดเอาเส้นแบ่งเขตแดนที่เคยอยู่ในสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศสเป็นหมุดในการขีดเส้นเขตแดนประเทศโดยใช้เส้นสันปันน้ำที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้น ซึ่งในบางกรณีไทยไม่ได้ยอมรับแผนที่เหล่านั้นอย่างเป็นทางการ ทำให้ในแถบชายแดนบางพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ต้องมีการเจรจาตกลงกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
.
ข้อพิพาทคดีปราสาทพระวิหารที่ถูกตัดสินไปเมื่อปี พ.ศ.2505
โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เริ่มจากมีบทความในปี พ.ศ.2501 ที่พาดพิงจากกัมพูชาถึงการใช้กำลังทหารเข้ายึดปราสาทเขาพระวิหารโดยไทย และสื่อวิทยุจากฝั่งกัมพูชาก็พยายามผลักดันเรื่องนี้จนเกิดกระแส การทวงคืนปราสาทพระวิหารจากไทย แม้ว่าจะยังไม่รุนแรงมากนัก แต่เนื่องจากอาชญกรรมในแถบชายแดนที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว
ต่อมารัฐบาลของไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดที่ติดกับกัมพูชา อีกทั้งยังมีการเดินขบวนของคนไทยเพื่อประท้วงกัมพูชาในการอ้างกรรมสิทธิเหนือเขาพระวิหาร และมีการโจมตีโต้ตอบกันระหว่างสื่ออยู่เรื่อยๆ นำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตและฟ้องร้องต่อศาลโลกในที่สุด
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินคดีของเขาพระวิหารด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 และยกให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาในที่สุด เนื่องจากในอดีตไทยเคยพบว่ามีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนนี้อยู่แล้ว แต่ยังคงใช้แผนที่ที่แสดงว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาอยู่ และพิจารณาว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ยอมรับว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว จึงทำให้เป็นการยอมรับไปโดยปริยาย
.
กรณีพิพาทพรมแดนไทย – กัมพูชา พ.ศ.2554
นับเป็นการพิพาทระหว่างประเทศที่ค่อนข้างรุนแรงระหว่างไทยและกัมพูชา เนื่องจากเกิดการปะทะกันทางกำลังทหารระหว่าง 2 ประเทศ และหลายพื้นที่ชายแดนในอีสานใต้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติสงคราม อีกทั้งยังมีทหารและพลเรือนเสียชีวิตหลายราย
เหตุการณ์ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของทางกัมพูชา ซึ่งได้ขีดเส้นล้ำเข้ามายังพื้นที่ทับซ้อนที่บริเวณพื้นที่รอบๆปราสาท ซึ่งทางไทยได้ออกมาโต้แย้งและเกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบด้านการแบ่งเขตแดนอีกครั้ง และทางกัมพูชาจึงได้เปลี่ยนแผนที่แบ่งเขตแดนใหม่ซึ่งจดทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้นโดยไม่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย โดยที่ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีการพิจารณาเห็นชอบแล้ว
ต่อมาได้มีการเดินประท้วงจากฝั่งไทยเนื่องจากไม่ได้มีการเปิดเผยแผนที่ให้ประชาชนรับรู้ในกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร และได้รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของทางกัมพูชา แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขึ้นทะเบียนไว้ได้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งข้อสงสัยของการตัดสินมากมายจากประชาชนชาวไทย ลุกลามไปจนถึงการปะทะกันทางกำลังทหารของทั้ง 2 ประเทศครั้งแรกภายในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552 อีกทั้งยังเกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้งและเกิดการปะทะกันในที่ชุมนุมจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง
เหตุการณ์ปะทะกันด้วยกำลังทหารในพื้นที่ชายแดนลากยาวไปจนกระทั่งปี 2554 ที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และยื่นคำร้องต่อศาลเดียวกันเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาล
.
พื้นที่ทับซ้อนในแถบอีสานใต้ ณ ปัจจุบัน
ปัจจุบันพื้นที่ในแถบชายแดนไทย – กัมพูชาในจังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมภ์ยังคงมีพื้นที่ทับซ้อนที่ไม่ได้มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนอยู่ ซึ่งได้มีการสำรวจและกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานของภาครัฐอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งชาวบ้านในแถบชายแดนก็ยังมีการใช้พื้นที่ร่วมกัน ทั้งในการทำเกษตรกรรมรวมไปถึงการค้าชายแดน
.
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และความกังวลของคนไทยในเรื่องเกาะกูด
การขีดเส้นแบ่งทางทะเลนับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายๆประเทศต้องเผชิญคล้ายๆกัน เนื่องจากความต้องการในการใช้ทรัพยากรที่อยู่ใต้ทะเล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีววิทยา ที่ทุกประเทศต่างต้องการครอบครองทรัพยากรเหล่านี้เหมือนกัน ทำให้การขีดเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลของแต่ละประเทศ มักจะหาข้อได้เปรียบต่างๆเพื่อให้ประเทศของตนมีความได้เปรียบในทางทรัพยากรนั้นๆ
ข้อตกลงของการขีดเส้นแบ่งทางทะเลถูกร่างขึ้นจากอนุสัญญาเจนีวาในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ลงนามเห็นด้วยทั้งคู่ ซึ่งการใช้เงื่อนไขของอนุสัญญาเจนีวายังมีข้อโต้แย้งในด้านเงื่อนไขอยู่บ้าง และด้วยการขีดเส้นแบ่งทางทะเลนี้ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยกับกัมพูชาในบริเวณกว้าง อีกทั้งการขีดเส้นพรมแดนของกัมพูชาได้มีการลากผ่านเกาะกูดของไทย
ต่อมาในปี พ.ศ.2525 ได้มีการร่างอนุสัญญาสหประชาชาติซึ่งปรับปรุงการแบ่งเขตแดนทางทะเลให้กระชับและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยและกัมพูชาได้มีการลงนามเหมือนกัน แต่ต่างกันอยู่ประเด็นนึงที่ ไทยลงนามและได้มีการประกาศใช้แล้ว แต่ฝั่งกัมพูชาที่ได้ลงนามด้วยเช่นกันกลับไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้การตกลงเรื่องผลประโยชน์ของการใช้พื้นที่ทับซ้อนนั้นทำได้ยาก เนื่องจากกัมพูชายังไม่ได้ประกาศใช้อนุสัญญาฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ
ความพยายามเจรจาเพื่อหาข้อตกลงด้านพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามหาข้อตกลงด้วยวิธีทางการทูต โดยเรียกข้อตกลงนั้นว่า MOU 2544 ซึ่งมีความพยายามในการทำข้อตกลงหลายครั้ง แต่ด้วยสถานะการณ์ความไม่สงบของไทยและประเด็นข้อพิพาทปราสาทพระวิหารกับทางกัมพูชา ทำให้การเจรจาหาข้อตกลงถูกเลื่อนออกไปหลายต่อหลายครั้งในหลายรัฐบาล
ในปัจจุบันที่ราคาของพลังงานในประเทศไทยได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นเร่งด่วนในการเร่งแก้ไขปัญหา ข้อตกลง MOU 44 จึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เนื่องจากไทยต้องการเร่งการสำรวจและเสาะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่เพื่อทำให้ราคาพลังงานในประเทศถูกลงมากยิ่งขึ้น และพื้นที่ที่ไทยต้องการพัฒนาอยู่ในเขตของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา ที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงจาก MOU 44 ให้ชัดเจน
อีกทั้งหากใช้เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลตาม MOU 44 ก็ได้สร้างความกังวลให้กับคนไทยในประเด็นของเกาะกูด เนื่องจากการขีดเส้นของกัมพูชาได้ลากผ่านกลางเกาะทำให้ไทยเกิดความกังวลว่าจะมีปัญหาในด้านพื้นที่ตามมาอีกหรือไม่หากใช้เส้นแบ่งเขตแดนตามนี้ และการใช้เส้นแบ่งเขตแดนเช่นนี้ยังสามารถส่งผลกระทบให้ไทยเสียเปรียบในด้านพื้นที่ทางทะเลอีกด้วย เนื่องจากกัมพูชายังไม่ได้ประกาศใช้การขีดเส้นแบ่งทางทะเลตามหลักของอนุสัญญาฉบับใหม่ที่ทั้ง 2 ประเทศได้มีการลงนามไปแล้ว
ทั้งนี้การเร่งแก้ไขปัญหาด้านราคาพลังงานจำเป็นต้องมีการผลักดันโดยเร็ว และต้องเร่งการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงด้านการขีดเส้นเขตแดนรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนจากทั้ง 2 ประเทศ เนื่องงจากหากยังไม่ได้มีการหาข้อตกลงที่ชัดเจนและครอบคลุมมากเพียงพอ อาจทำให้การแก้ไขปัญหาพลังงานของไทยมีความล่าชช้าลงไปเรื่อยๆ
.
ประเด็นในเรื่องเกาะกูด
นับว่าค่อนข้างคลายความกังวลได้เนื่องจากเกาะกูดนั้นถูกประกาศว่าเป็นของไทยมาตั้งแต่สนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส อีกทั้งหลังจากมีประเด็นเรื่อง MOU 44 ขึ้นมา ทางกัมพูชาก็ได้ออกแผนที่่ใหม่ที่ลากเส้นออกจากเกาะกูดแล้ว จึงนับเป็นการยอมรับโดยนัยว่าเกาะกูดนั้นเป็นของไทย
ที่มา : กระทรวงต่างประเทศ, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, International Court of Justice, BBC