พาเลาะเบิ่ง ตัวอย่าง ทางหลวงแนวใหม่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในภาคอีสาน

ทางหลวงแนวใหม่ อุดรธานี – บึงกาฬ

ทางหลวงแนวใหม่ 4 เลน “อุดรธานี-บึงกาฬ” พ่วงจุดตัดทางแยก 3 แห่ง ระยะทางกว่า 155 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 เปิดบริการปี 2572 โครงการนี้จะเพิ่มสะดวก ลดระยะเวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงสู่ จ.บึงกาฬ รองรับการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปิดประตูการค้าชายแดนแห่งใหม่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)

โครงการมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเบื้องต้น (EIRR) 19.23% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,112 ล้านบาท และมีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) 1.52

 

 

ทางหลวงแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมืองสว่างแดนดิน

ทางเลี่ยงเมือง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ระยะทางกว่า 14 กิโลเมตร พร้อมทางต่างระดับ 8 จุดตัด งบก่อสร้าง 1,520 ล้านบาท

จากผลการวิเคราะห์ด้านจราจร เดิมทีในปี 2564 อยู่ในช่วง 5,000 – 9,000 คัน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 9,000 – 15,000 คัน/วัน ในปี 2574 และเป็น 14,000 – 21,000 คัน/วัน ในปี 2584 ประกอบกับแนวเส้นทางสายนี้ในบางช่วงยังคงวิ่งผ่านเข้าตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งแนวเส้นทางในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดินมีเขตทางแคบเป็นข้อจำกัดในการขยายช่องจราจร ดังนั้น การพิจารณาก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุดังกล่าว รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และยกระดับความปลอดภัยในการสัญจร

 

 

ทางหลวงแนวใหม่ ท่าพระ – พระยืน

ถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ท่าพระ-พระยืน สะพานข้ามแยกท่าพระ สะพานข้ามแม่น้ำชี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระยะทางกว่า 13.7 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นของโครงการจะออกแบบเป็นสะพานข้ามแยก มีขนาดถนน 6 ช่องจราจร ส่วนด้านล่างเป็นวงเวียนขนาด 3 ช่องจราจร

หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรและเพิ่มศักยภาพของจังหวัดในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนทางรางกับทางบก และยกระดับทางหลวงในสมบูรณ์ รองรับปริมาณการจราจรในอนาคต ทำให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตในกับคนในพื้นที่อีกด้วย

 

 

ทางหลวงแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ

ทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญด้านตะวันตก ระยะทางกว่า 25 กิโลเมตร งบก่อสร้าง 2,400 ล้าน โครงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและยกระดับความปลอดภัยการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคอีสาน และยังเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี–สาละวัน) เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น สปป.ลาว และประเทศเวียดนาม ตลอดจนช่วยกระจายความเจริญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่สอดรับกับแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

 

ทางหลวงแนวใหม่ เดชอุดม – ดอนจิก

ก่อสร้าง ทล.24 (ตัดใหม่) ระยะทาง 40.19 กิโลเมตร เชื่อม ทล.217 ช่วง เดชอุดม-ดอนจิก พาดผ่านพื้นที่  7 ตำบลใน 3 อำเภอคือ อ.เดชอุดม อ.นาเยีย และ อ.พิบูลมังสาหาร ด้วยการออกแบบที่ทันสมัยที่สุดตอนนี้ของกรมทางหลวง โดยใช้รูปแบบขอบเขตทางหลวง 60 เมตร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และ 6-8 ช่องจราจรบางช่วงบางตอน ในแบบแผนเดียวกับ “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์” Superhighway พร้อมงานก่อสร้างสะพานต่างระดับข้ามแยกทั้งสิ้น 8 แห่ง จุดกลับรถใต้สะพานข้ามลำน้ำ 2 แห่ง ประกอบด้วย

– ทางแยกป่าโมง  

– สะพานข้ามห้วยแดง พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน

– สะพานต่างระดับข้ามถนนท้องถิ่น พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณถนนบ้านนาเรือง – อบต.นาส่วง ตำบลนาส่วง อ.เดชอุดม

– สะพานต่างระดับข้าม ทล. 2213 พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณสหกรณ์การเกษตร นาเยีย ตำบลนาเยีย อ.นาเยีย

– สะพานต่างระดับข้ามถนนท้องถิ่น พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณบ้านนาเยีย หมู่ 2 ตำบลนาเยีย อ.นาเยีย

– สะพานข้ามลำโดมใหญ่ พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน

– สะพานต่างระดับข้าม อบ. 3039 พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน เส้นนาโพธิ์-ไร่ใต้ ตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร

– สะพานต่างระดับข้าม อบ. 3150 พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณวัดภูเทวรักษาวนาราม ตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร

– สะพานต่างระดับข้าม อบ. 3033 พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน บริเวณบ้านสมบูรณ์สามัคคี ตำบลดอนจิก อ.พิบูลมังสาหาร

– สะพานต่างระดับข้าม ทล. 217,ทล.2172 พร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน จุดบรรจบ ทล.217 และสิ้นสุดโครงการ ต.ดอนจิก อ.พิบูลมังสาหาร

โครงการนี้นับว่าเป็นการยกระดับคมนาคมจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเชื่อมต่อด่านการค้าชายแดนทั้ง 2 แห่งคือ ด่านการค้าชายแดนช่องเม็ก อ.สิรินธร และด่านการค้าชายแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบล-สาละวัน) อ.นาตาล เข้ากับถนนยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อเชื่อมภูมิภาครวมถึงท่าเรือสำคัญของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/166r3ymAEr/)

 

 

ทางหลวงแนวใหม่ บ้านหนองผือ – สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 

โครงการนี้จะมีความยาว 33.80 กิโลเมตร มีขนาด 4 ช่องจราจร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง 2570 และเปิดให้ใช้บริการพร้อมกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 ขณะอยู่ในช่วงให้บริษัทเอกชนเข้าสำรวจและจัดทำแผนเวรคืนกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเมื่อเสร็จแล้วคาดว่าจะเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมการขนส่งสินค้าจากอีสานใต้และอีสานเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้านสะดวก

 

 

ทางเลี่ยงเมือง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง จ.นครพนม ในปีงบประมาณ 2564 ใช้งบก่อสร้างกว่า 950 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 7.86 กิโลเมตร หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้ จ.นครพนม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านคมนาคม เพราะเป็นประตูเศรษฐกิจการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ตั้งบริเวณชายแดนติด สปป.ลาว เชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีทางหลวงหมายเลข 212 เป็นทางหลวงสายหลักสำหรับการเดินทางเข้าตัวเมือง

ดังนั้นการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับด้านความปลอดภัยทางถนน และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง อีกทั้งยังช่วยเลี่ยงรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้มาใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือนต่อพระธาตุพนมที่เป็น ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนม

 

อ้างอิงจาก:

– UBON NOW อุบลนาว

– Thailand Update

– Dailynews

– MGR Online

– NF CHANNEL

– Transport Journal

– ThaiPBS-ESAN

– สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี

– ประชาชาติธุรกิจ

– กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ถนนแนวใหม่ #ก่อสร้างถนน #ถนนในภาคอีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top