การกระจายรายได้ยโสธร จังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในอีสาน?

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้คือความแตกต่างในการกระจายรายได้ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มประชากรในสังคม โดยแสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยความเหลื่อมล้ำทางรายได้สามารถประเมินได้โดยใช้สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือ Gini Coefficient คือ ตัวชี้วัดระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ซึ่งหากค่าใกล้1 แสดงว่ามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง

 

ในปี 2566 สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของไทยมีค่าเท่ากับ 0.382 เมื่อพิจารณาภาคอีสาน พบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์ 0.377 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้ที่เท่ากับ 0.395 โดยจังหวัดในภาคอีสานที่มีค่าสัมประสิทธิ์มากที่สุดคือ ‘ยโสธร’ ที่มีครัวเรือน 1.4 แสนครัวเรือน โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคเท่ากับ 0.440 บ่งบอกถึงระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสานและสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

 

เมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ของครัวเรือนจังหวัดยโสธร โดยการแบ่งกลุ่มครัวเรือนเรียงตามระดับรายได้ออกเป็น 5 กลุ่มเท่ากัน กลุ่มละ 20% หรือเรียกว่ากลุ่มควินไทล์ (Quintile) พบกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20% แรก  หรือกลุ่มควินไทล์ที่ 5 มีส่วนแบ่งรายได้กว่า 47% มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 57,179 บาท ซึ่งส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มรวยสุดในยโสธรเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เท่ากับ 40% แสดงให้เห็นถึงรายได้ที่กระจุกตัวเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนรวยในยโสธร 

 

กลุ่มรายได้ระดับ 2 (ควินไทล์ที่ 4) ด้านของกลุ่มรายได้ระดับ 3 (ควินไทล์ที่ 3) และกลุ่มรายได้ระดับ 4 (ควินไทล์ที่ 2) ซึ่งอุปมานว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้กลางๆ มีส่วนแบ่งของรายได้เท่ากับ 13% 14% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมาก

 

ในด้านของกลุ่มครัวเรือนที่จนที่จนที่สุด หรือ กลุ่มควินไทล์ที่ 1 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 12,430 บาท ต่ำกว่ากลุ่มที่รวยที่สุดถึง 4.7 เท่า และมีส่วนแบ่งของรายได้เพียง 10% นอกจากนั้นยังพบว่ามีส่วนแบ่งที่ลดลงจากปี 2564 ที่มีส่วนแบ่ง 14% สวนทางกับกลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด แสดงให้เห็นชัดถึงการกระจายรายได้ในสังคมมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในจังหวัดยโสธร 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในยโสธรจึงเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับภูมิภาค และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างยั่งยืน

 

หมายเหตุ: กลุ่มรายได้อ้างอิงจากการแบ่งครัวเรือนเรียงตามระดับรายได้ออกเป็น 5 กลุ่มเท่ากัน หรือกลุ่มควินไทล์, ข้อมูลเชิงสถิติอาจคลาดเคลื่อนจากค่าจริง

 

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ยโสธรเมืองพญาแถน แดนบั้งไฟ ผลักดันเทศกาลไทย ไปนานาชาติ

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top