ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึง 2567 รวม 31 ปี และโดยเฉพาะในจังหวัดภูมิภาค ทั้งหมด 40 หลักจังหวัดที่มีโครงการทั่วประเทศ ซึ่งได้คัด 15 จังหวัดหลักที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยไม่นับ6 จังหวัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อันดับ 1 และอันดับ 2 คือจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งเติบโตด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดหลักในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ โดยจังหวัดชลบุรี ณ ปี 2567 ยังมีหน่วยขายรอผู้มาซื้ออยู่ 45,470 หน่วย หรือเหลืออยู่ 15% มีมูลค่ารวม 159,738 ล้านบาท ในส่วนของจังหวัดระยอง ยังมีหน่วยที่อยู่อาศัยรอขายอยู่ 23,092 หน่วย หรือ 25% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด รวมมูลค่า 58,563 ล้านบาท
อันดับที่ 3 เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคเหนือ นั่นคือ จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีหน่วยขายรอขายอยู่ 11,900 หน่วย ถือเป็นเพียง 14% ของหน่วยขายทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวมกัน 54,218 ล้านบาท และอันดับที่ 4 เป็นอีกเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและจังหวัดสำคัญของภาคใต้ คือจังหวัดภูเก็ต มีหน่วยที่อยู่อาศัยรอขายอยู่ 11,607 หน่วย คิดเป็น 15% ของปริมาณทั้งหมด มีมูลค่ารวมสูงถึง 142,796 ล้านบาท
ข้ามฝั่งมายังอีสาน พบว่ามีจังหวัดในภาคอีสานติดอยู่ในลำดับจังหวัดที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากที่สุด ซึ่งได้แก่จังหวัดกลุ่ม Big 4 อย่าง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และ อุบลราชธานี โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้
นครราชสีมา
- หน่วยขายรอขาย: 8,336 หน่วย
- คิดเป็น 21% ของหน่วยขายทั้งหมด
- มูลค่าที่รอขายรวม 26,458 ล้านบาท
ขอนแก่น
- หน่วยขายรอขาย: 5,642 หน่วย
- คิดเป็น 95% ของหน่วยขายทั้งหมด
- มูลค่าที่รอขายรวม 19,484 ล้านบาท
อุดรธานี
- หน่วยขายรอขาย: 2,530 หน่วย
- คิดเป็น 16% ของหน่วยขายทั้งหมด
- มูลค่าที่รอขายรวม 9,229 ล้านบาท
อุบลราชธานี
- หน่วยขายรอขาย: 1,812 หน่วย
- คิดเป็น 17% ของหน่วยขายทั้งหมด
- มูลค่าที่รอขายรวม 6,191 ล้านบาท
ดร.โสภณ เชื่อว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยของพื้นที่หลายจังหวัดจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น ที่อยู่อาศัยสำหรับคนทำงานหรือผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะลดลงเนื่องจากโรงงานญี่ปุ่นและเกาหลีคงทะยอยย้ายออก ในทำนองเดียวกันที่อยู่อาศัยในเขตตัวเมืองจังหวัดภูเก็ตก็อาจไม่เติบโตมากนัก ที่เติบโตจริงๆ คือที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติที่อยู่ตามริมหาดหรือตามไหล่เขามากกว่า และการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาคอีสานมีการเติบโตค่อนข้างช้า ยกเว้นจังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดแห่งภาคอีสานอย่าง นครราชสีมา
ด้านอีสาน อินไซต์ มองว่า ในอนาคตอาจมีอุปสงค์ต่อราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในภาคอีสาน โดยเฉพาะกลุ่ม Big 4 เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและน้อยกว่าภูมิภาคอื่น นอกจากนั้นก็มีการพัฒนาจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้ ผู้คนอาจจะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น ซึ่งจะทำภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในระยะยาว
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ข้อมูลสำรวจภาคสนาม