-
จับตา “ทุนจีน”รุกหนัก สร้างนอมินีถือหุ้นลงทุนและเดินเกมทุ่มตลาด หากไทยยังไม่ตื่นตัวจะไม่ทันการณ์
-
นักวิชาการแนะเร่งพัฒนาทักษะแรงงานสู้ ผลิตสินค้าที่จีนยังไม่มีและทำไม่ได้
ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเข้ามาลงทุนในไทยของ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนนั้น ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า ส่วนใหญ่การเข้ามาลงทุนของทั้ง 2 ประเทศจะอยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะจีน เลือกลงทุนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ในรูปแบบของร้านอาหาร ทัวร์และที่พัก เป็นต้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก
“ภาคอีสานจะต่างออกไป ตลาดการท่องเที่ยวที่ยังไม่โดดเด่น พื้นที่การลงทุนที่เข้ามาเป็นปกติมีแต่เดิมอยู่แล้ว เพิ่มเติมจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าการลงทุน คือ จังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดติดชายแดน และจังหวัดที่มีรถไฟเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ๆ
การเข้ามาลงทุนในภาคอีสานจึงมาในรูปแบบภาคการผลิต เช่น โรงงานน้ำตาล การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ที่มีความเชื่อมโยงการโครงสร้างของเศรษฐกิจอีสาน การลงทุนของอเมริกาและจีนจะลงทุนต่างกัน อเมริกาเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่มูลค่าการลงทุน ก็ยังไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคหรือประเทศอื่น
ผศ.ประเสริฐ ยังบอกอีกว่า กระแสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ บางส่วนอาจยุติปิดกิจการ ผู้ประกอบการไทยหายไป ถือเป็นปรากฎการณ์กลไกด้านการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัวทั้งด้านสินค้า บริการ และต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่เน้นการแข่งเรื่องราคา พัฒนาสินค้าให้มีความเฉพาะ มีความพิเศษ การรักษามาตรฐานสินค้า การบริการหลังการขาย เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้าเกิดการใช้ต่อ ใช้ซ้ำ และรักษาคุณภาพสินค้า ส่วนในระยะยาวผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนทั้งการคิดค้นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีความชัดเจนเชิงยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัด
“นอกจากผู้ประกอบการไทยแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการรองรับช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยในระยะสั้นควรเข้ามาดูแลความเหมาะสมของการเข้ามาลงทุนว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ออกแบบการลงทุนในระหว่างที่มีการเตรียมตัว ในระยะยาวหากปล่อยให้ผู้ประกอบการไทยจัดการกันเอง จะทำให้โดดเดี่ยว สู้ไม่ไหว และล้มหายออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม ควรผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ”
แม้ว่าการลงทุนในประเทศไทยทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าประเทศอื่น แต่นักลงทุนยังคงสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพด้านแรงงานไทยที่มีคุณภาพ และในภูมิภาคนี้ไทยคือคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของจีน จึงทำให้นักลงทุนจีนเข้ามาเปิดตลาดที่ใหญ่กว่า และเชื่อว่าคุ้มกับการลงทุน
.
โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรามีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนกว่า 6,551 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.7% ของมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนทั้งหมดในประเทศ
.
5 อันดับจังหวัดที่มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนมากที่สุด
– กาฬสินธุ์ มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนกว่า 828 ล้านบาท
– อุบลราชธานี มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนกว่า 793 ล้านบาท
– อุดรธานี มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนกว่า 534 ล้านบาท
– เลย มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนกว่า 525 ล้านบาท
.
หากดูข้อมูลอันดับข้างต้นก็จะพบว่ามีการกระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดใหญ่ๆอย่างนครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และเลย โดยเพียงแค่ 4 จังหวัดก็มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนมากกว่า 4,123 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 62.9% เลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จังหวัดเหล่านี้มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนมาก
.
แต่ที่น่าสังเกตคือ จังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนมากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้จังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดกลางอย่างกาฬสินธุ์ถิ่นน้ำดำมีมูลค่าการร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนมากขนาดนี้
.
โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 774 ล้านบาท อย่างบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด ซึ่งทำธุรกิจการผลิตน้ำตาลบริสุทธิ์ โดยมีมูลค่าการลงทุนของชาวจีนมากกว่า 14.3 ล้านบาทเลยทีเดียว
.
และเมื่อดูสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนชาวจีน จะพบว่า มีการลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่ NeEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน) เป็นหลัก มีมูลค่ารวมกันทั้ง 4 จังหวัดมากกว่า 588 ล้านบาท หรือหรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% เลยทีเดียว ซึ่งในพื้นที่ NeEC เป็นเส้นเชื่อมระหว่างเขตขยายแนวทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับจีน โดยส่วนใหญ่นักลงทุนชาวจีนนิยมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด และภาคการผลิตที่เกี่ยวกับยาง
นอกจากนี้ยังพบว่าบางมาตรการของรัฐเปิดช่องการลงทุนให้กับนักธุรกิจชาวจีน เช่น นโยบายฟรีวีซ่า นโยบายภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ รถไฟฟ้า แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ส่วนสินค้าอื่นที่ยังเสียภาษีต่ำกว่าสินค้าที่ไปยุโรป อเมริกา ทำให้นักลงทุนชาวจีนเบนเข็มมาค้าขายที่เมืองไทย เพราะขายได้กำไรมากกว่า
หลังจากนี้ความท้ายทายของรัฐบาลและผู้ประกอบการไทย คือ ต้องตั้งหลักว่าจะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างไร ไทยไม่สามารถไปแข่งขันสินค้ากับจีนเพราะต้องยอมรับว่า ไทยสู้จีนไม่ได้ทั้งเรื่องราคา นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิต แต่ไทยควรจะพัฒนาสินค้าที่มี แต่จีนไม่มี จึงต้องตั้งธงเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมขายกับนักท่องเที่ยวทั่วโลกนอกจากดึงนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ยังต้องสร้างสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าขายให้กับชาวจีนเพื่อไม่ให้ไทยเสียดุลการค้ากับจีนไปมากกว่านี้