ปัจจุบันการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจ Food delivery เจ้าดังอย่าง Grab, LINE MAN x Wongnai และ Food Panda เรียกได้ว่า สามารถสร้างเครือข่ายพื้นที่ให้บริการส่งอาหารได้ครอบคลุมเกือบครบหรือครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว ส่วน Robinhood แพลตฟอร์ม Food Delivery น้องใหม่สัญชาติไทย ก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดมีแผนที่จะขยายพื้นที่ให้บริการไปต่างจังหวัด โดยเป้าหมายแรกจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของภาคอีสาน อย่าง “นครราชสีมา” และ “ขอนแก่น”
.
แน่นอนว่าไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะแต่ละเจ้ายังคงงัดไม้เด็ดมาประชันกันอย่างไม่มีใครออมมือ ทั้งในด้านโปรโมชันส่วนลดกับผู้ใช้บริการและร้านอาหารจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่, การเพิ่มรูปแบบการให้บริการในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และการขยายบริการไปในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากส่งอาหาร เช่น การซื้อสินค้า การขนส่งสินค้า การเงิน และการท่องเที่ยว
.
การประเมินของ EIC คาดว่า มูลค่าตลาด Food delivery ของไทยในปี 2021 จะเติบโต 62%YOY จนมีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท เป็นการขยายตัวต่อเนื่องแม้ในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเกือบ 3 เท่าตัว จากการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดโปรโมชันส่วนลดของแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ และอีกส่วนมาจากมาตรการล็อกดาวน์และห้ามรับประทานอาหารภายในร้านในช่วงที่ผ่านมา
.
ทั้งนี้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รูปแบบการแข่งขันจะเป็น Super App มากยิ่งขึ้น ทั้งจากแพลตฟอร์ม Food delivery ที่ขยายบริการไปด้านอื่น ๆ และจากแพลตฟอร์มที่เน้นบริการด้านอื่น จะหันมาให้บริการ Food delivery มากขึ้นหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย
.
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การขยายตัวของฐานผู้ใช้บริการใหม่จากความต้องการความสะดวกสบายในการใช้บริการที่ยังมีต่อเนื่อง 2. การเพิ่มขึ้นของการใช้บริการของฐานลูกค้าเดิมจากพฤติกรรมที่เคยชิน และ 3. การขยายตลาดการให้บริการไปในธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานร้านอาหาร
.
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ Food delivery สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน คือแพลตฟอร์ม Food delivery ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาฐานผู้ใช้บริการ พาร์ทเนอร์ร้านอาหาร และไรเดอร์, การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และการจัดการด้านกฎระเบียบและด้านสิ่งแวดล้อม
.
ส่วนแนวทางที่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารควรนำไปปรับใช้เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้า ได้แก่ การมีสินค้าที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ, การสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และการมีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุมมากขึ้น
.
สุดท้าย ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารและไรเดอร์ให้สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์ม Food delivery ได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับแพลตฟอร์มในการสนับสนุนหรือช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ทั้งในด้านกฎระเบียบและแนวทางในการเข้าร่วม, ด้านอัตราค่าบริการและผลตอบแทน, สวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรม และด้านการจัดทำบัญชีและภาษี ตลอดจนการกำกับดูแลการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม Food delivery เอง เพื่อการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม
.
.
อ้างอิงจาก: https://www.scbeic.com/th/detail/product/7906