ประเทศไทยของงเรามีพื้นป่าอยู่ทั้งหมด 102 ล้านไร่ หรือมีสัดส่วนพื้นที่ป่ากว่า 31.5% ของพื้นที่หมดในประเทศ แล้วเคยรู้หรือไม่ว่าพื้นที่ป่าในภาคอีสานมีมากแค่ไหน?
โดยในภาคอีสานของเรามีพื้นที่ป่า 15.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 14.9% ของขนาดพื้นที่ทั้งหมดในภาคอีสาน ซึ่งลดลงจากปี 2516 เท่ากับ 16.1 ล้านไร่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)
อีกหนึ่งสาเหตุหลักเป็นผลมาจากสมการที่ไม่สมดุลระหว่างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับการรักษาสมดุลทางนิเวศในระยะยาว การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดเพียงพอ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ผืนป่าในภาคอีสานค่อยๆ เลือนหายไปนั่นเอง โดยการขยายตัวทางการเกษตรยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่า และทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ การเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะการเลี้ยงปศุสัตว์) และเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพในท้องถิ่น
5 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่ามากที่สุด
– มุกดาหาร คิดเป็น 32.8% หรือ 8.5 แสนไร่
– เลย คิดเป็น 32.2% หรือ 21.1 แสนไร่
– ชัยภูมิ คิดเป็น 31.5% หรือ 25.0 แสนไร่
– อุบลราชธานี คิดเป็น 17.6% หรือ 17.2 แสนไร่
– สกลนคร คิดเป็น 16.9% หรือ 10.1 แสนไร่
จังหวัดมุกดาหาร เลย และชัยภูมิ ถือเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนของป่าธรรมชาติหลงเหลืออยู่มากที่สุดในภาคอีสาน สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาและที่ราบสูง ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานถาวร ทำให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ถูกแผ้วถางหรือพัฒนาเหมือนพื้นที่ราบลุ่มอื่นๆ
ในจังหวัดมุกดาหาร แม้จะเป็นจังหวัดชายแดน แต่กลับมีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาและป่าเบญจพรรณที่ทอดยาว โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ของป่าไม้เอาไว้อย่างดี
ส่วนจังหวัดเลยมีแนวเทือกเขาหลายสายทอดผ่าน ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาภูหลวง และภูเรือ และภูพาน ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้มาก
ขณะที่จังหวัดชัยภูมิก็มีเทือกเขาพังเหยและภูแลนคาเป็นเสมือนแนวกันชนทางธรรมชาติ ที่ช่วยรักษาพื้นที่ป่าทั้งในเชิงระบบนิเวศและเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้ยังได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือป่าไม้ถาวร ทำให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่สามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจได้โดยง่าย การเข้าถึงที่ค่อนข้างลำบากในบางพื้นที่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยชะลอการบุกรุกพื้นที่ป่า ดังนั้น การที่มุกดาหาร เลย และชัยภูมิ ยังมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่มาก จึงไม่ใช่เพียงผลจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากรและการวางนโยบายอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแบบอย่างสำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานนั่นเอง
ในอีกด้านหนึ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนป่าไม้ที่ต่ำที่สุด คือ จังหวัดมหาสารคาม มีสัดส่วนป่าเพียง 3.8% และร้อยเอ็ด 4.5% ซึ่งเป็นพื้นที่ราบส่วนใหญ่และมีการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีต่อผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตร การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกและแปรสภาพ การตัดสินใจของเกษตรกรส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้การรักษาพื้นที่ป่าไม้ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ไม่ชัดเจนในทันที ถูกมองข้ามไป
การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้นำมาซึ่ง “ต้นทุนแฝง” ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มักถูกละเลย เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ การเสื่อมโทรมของดิน และความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว
แม้ว่าสัดส่วนป่าไม้ในภาพรวมจะน่ากังวล แต่ “ความเขียว” ที่ยังคงอยู่คือ “โอกาส” ทางธุรกิจที่ยังไม่ถูกจัดสรรอย่างเต็มศักยภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างมีความรับผิดชอบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนที่มีคุณภาพ การสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนและการปลูกป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสาน และการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว ล้วนเป็นแนวทางในการสร้าง “เศรษฐกิจสีเขียว” ใหม่ในภาคอีสาน ที่ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ แต่ยังช่วยฟื้นฟูและรักษาผืนป่าให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย
หมายเหตุ: พื้นที่ป่าไม้ คือ “พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และรวมถึงทุ่งหญ้า และลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมสวนยูคาลิปตัส พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม”
อ้างอิงจาก:
– กรมสารสนเทศ กรมป่าไม้
– มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
– Salika.co
– กรุงเทพธุรกิจ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ป่า #พื้นที่ป่า #ป่าอีสาน