Personalized Food โอกาสใหม่ในธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์เฉพาะเจาะจงในระดับบุคคลมากขึ้น และด้วยร่างกายของแต่ละคนมีความต้องการสารอาหารที่ต่างกัน ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบ One size fits all ไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป
.
จึงเกิดแนวคิด Tailored to FIT ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) โดยคาดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการอาหาร และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่จะสามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่ม Product Segment ใหม่ที่น่าสนใจ
.
📢 Personalized Food เมื่อแบ่งด้วย Metrix ของ 2 ปัจจัย คือ รูปแบบการส่งมอบอาหาร และความเฉพาะเจาะจงของผู้บริโภค จะแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
.
1. อาหารสำเร็จรูปสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
.
ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น บริษัท Kewpie ของญี่ปุ่น ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น สเต๊กแฮมเบอร์เกอร์ไก่และเกี๊ยวกุ้งที่เนื้ออาหารมีความนุ่มและเคี้ยวง่าย ตอบโจทย์ปัญหาการบดเคี้ยว ลิ้นรับรสชาติได้น้อยลง และการกลืนอาหารลำบากหลังร่างกายผลิตน้ำลายน้อยลง
.
ส่วนของไทย มีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่ผลิตข้าวต้มผู้สูงวัยออกมา โดยมีคุณสมบัติเคี้ยวง่าย ดูดซึมดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการมากกว่าคนปกติ
.
2. อาหารสำเร็จรูปสำหรับเฉพาะบุคคล
.
ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น บริษัท Nestle ในสหรัฐฯ ที่มีการนำผล DNA มาวิเคราะห์เพื่อสร้างเมนูอาหารเฉพาะบุคคล ภายใต้แบรนด์ Lean Cuisine ซึ่งต่อยอดจากอาหารเฉพาะกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก
.
สำหรับในไทยอาจทำได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี FoodTech รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาหารร่วมวิจัยถึงข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละราย เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภครายนั้นได้มากที่สุด
.
3. ร้านอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
.
ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น บริษัท Verdify ซึ่งเป็น FoodTech ของเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแบบอาหารผ่านออนไลน์ อีกทั้งร่วมมือกับเชฟเพื่อรังสรรค์อาหารและพร้อมจัดส่งถึงบ้าน ด้วยข้อมูลโภชนาการที่คำนึงถึงการแพ้อาหารและเป้าหมายด้านสุขภาพ เช่น กลุ่มผู้รับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ และผู้มีปัญหาสุขภาพทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
.
ตัวอย่างในไทย เช่น ร้านต้นกล้าฟ้าใส ที่มีเมนูอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ผู้สูงอายุ และผู้เป็นโรคเบาหวานหรือต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาล หรือร้าน Vista Kitchen ที่มีเมนูอาหารเหมาะกับกรุ๊ปเลือดของแต่ละคน
.
4. ร้านอาหารสำหรับเฉพาะบุคคล
.
ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ร้านอาหาร Vita Mojo ในสหราชอาณาจักร ที่ร่วมมือกับ DNA fit (บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน HealthTech) นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับความต้องการของร่างกายและสุขภาพในแต่ละบุคคล ด้วยข้อมูลพันธุกรรมหรือ DNA
.
.
📌 Personalized Food กับ Functional Food ต่างกันยังไง?
.
แม้จะเป็นกลุ่มอาหารที่มุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพเหมือนกัน แต่ Functional Food เป็นอาหารที่ตอบสนองคนทั่วไปที่รักสุขภาพ โดยจะบอกแค่คุณสมบัติของอาหาร เช่น กาแฟ Low sugar แต่ Personalized Food จะเป็นการต่อยอดไปอีกขั้น คือ เป็นอาหารที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องโภชนาการ พันธุกรรม และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ เช่น กาแฟสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Zero sugar + Zero หรือ Low-calorie)
.
.
📈 มูลค่าตลาดมีแนวโน้มโตเฉลี่ยปีละ 14.2%
.
Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า ในปี 2568 มูลค่าตลาด Personalized Food ของไทยอาจขยับแตะระดับ 5.4 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 ที่อยู่ที่ประมาณ 2.8 หมื่นล้าน หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 14.2% (CAGR)
.
.
♟ “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” โตก่อน แต่ “ตลาดเฉพาะบุคคล” โตมากกว่า
.
ในช่วงแรกตลาดของธุรกิจ Personalized Food ในรูปแบบเฉพาะกลุ่มมีโอกาสเติบโตได้ก่อน ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มสูงอายุ และกลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง และมะเร็งต่าง ๆ
.
แต่หลังจากนั้น รูปแบบเฉพาะบุคคลจะมีอัตราการเติบโตได้มากกว่าแม้มูลค่าตลาดจะไม่สูงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ สามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมได้ (สร้างความแตกต่างยิ่งขึ้นไปอีก)
.
.
🏆 อยากประสบความสำเร็จในตลาดนี้ ควรเริ่มจากตรงไหน?
.
ปัจจัยที่จะช่วยผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่าย อีกทั้งต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโภชนาการ ซึ่งประกอบด้วย 1. Testing Service 2. Health and Nutrition Specialist และ 3. Food Ingredient
.
นอกจากนี้ยังต้องติดตามเทรนด์ตลาดอาหารเฉพาะกลุ่มและบุคคล เพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
.
.
👨‍🍳 โอกาสของธุรกิจ Personalized Food ในภาคอีสาน
.
แม้ตลาดเฉพาะบุคคลจะโตมากกว่า แต่มูลค่าตลาดยังกระจุกตัวในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากมีการรับรู้คุณประโยชน์ของโภชนาการ จึงง่ายต่อการทำการตลาด รองลงมาเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยเราเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) โดยอีสานมีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ >60 ปี) ถึง 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ
.
รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่คนอีสานมีความเสี่ยงสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ จากพฤติกรรมการ​​รับประทานอาหารเค็ม หรือรับประทานยาชุดติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่สนใจลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพในภาคอีสาน
.
.
💪 Personalized Food ผู้ช่วยสนับสนุนสาธารณสุขประเทศ
.
ไม่ใช่แค่ในฝั่งผู้ประกอบ แต่หากประชาชนให้ความสำคัญกับอาหารที่มีคุณค่าแบบเฉพาะเจาะจง ก็จะทำให้มีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ อีกทั้ง ยังช่วยดึงธุรกิจประเภทนี้ให้เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น สุดท้ายผลประโยชน์จะตกกับผู้บริโภค คือ ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย แม้แต่ผู้มีรายได้น้อยก็มีสิทธิเข้าถึงได้ จากราคาที่มีแนวโน้มลดลง
.
.
อ้างอิง:
– รายงานเทรนด์อาหารเฉพาะบุคคล “Personalized Food” จัดทำโดย Krungthai COMPASS
– ข้อมูลประชากรสูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ
– ข้อมูลผู้ป่วยไตเรื้อรัง โดยโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top